นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.-ธ.ค. 63) เกินกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ โดยยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่แม้ภาคส่งออกจะยังดำเนินต่อไปได้ แต่ความต้องการบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ชะลอตัวลง
โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะมีการปรับประมาณการภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2564 ใหม่อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ได้ปรับลดลงมาเหลือ 9 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว จากเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ 1.04 แสนล้านบาท เพราะการปรับลดก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการปรับเป้าการจัดเก็บรายได้ใหม่ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงในปัจจุบัน
“จริง ๆ ชั่วโมงนี้ไม่อยากให้มาสนใจเรื่องตัวเลขรายได้มากนักว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะหากมองว่ายังสามารถจัดเก็บรายได้ในระดับนี้ ก็แปลว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังพอเดินไปได้ในภาวะที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ได้รับผลกระทบกันทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทำให้การบริโภคและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง” นายพชร กล่าว
สำหรับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ เข้ามาช่วยในเรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น ยังไม่ได้มีการประเมินว่ามีผลให้การจัดเก็บเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพราะยังติดเรื่องโควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บในระยะยาวมากกว่า อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลังเล็กน้อย ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยหลัก ๆ เป็นผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการในการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ชะลอตัวลง