นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ (ทางด่วน)และ ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง (ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แปรแผนไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก สบายและปลอดภัยมากที่สุด โดยให้พิจารณาต้นทุนอย่างรอบคอบ เพื่อประหยัดงบประมาณดำเนินการ และไม่ทำให้การประกอบกิจการมีต้นทุนสูง จนผลักภาระให้ประชาชน
ด้านนายปัญญา ชูพานิช รอง ผอ.สนข. และรักษาการ ผอ.สนข. กล่าวว่า คณะทำงานเรื่องนี้ได้พิจาณา 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาโครงข่ายทางด่วนยังขาดแนว ตะวันออก-ตะวันตก ส่วนใหญ่โครงข่ายทางด่วนจะมีอยู่ในแนวเหนือ-ใต้เป็นหลัก ขณะที่ตะวันออก-ตะวันตกยังมีไม่มากยังขาดอยู่ จึงเสนอให้เร่งรัดโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 เชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก และ ส่วนทดแทนตอน ช่วยรองรับการเดินทางตะวันออก-ตะวันตกได้ 2.ปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่าน พบว่ารถติดมี 9 ด่าน เช่น ด่านอโศก มีปริมาณรถ 56,675 คันต่อ และ ด่านศรีนครินทร์ มีรถ 50,483 คัน ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ประชาชนชำระค่าผ่านทางผ่านบัตรอีซี่พาสมากขึ้น โดยจัดโปรโมชั่นจูงใจ และใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือระบบ M-Flow ในอนาคต
3.ปัญหาโครงข่ายทางด่วนมีจุดตัด/จุดร่วมกันของกระแสจราจร พบว่ามี 8 ตำแหน่ง เช่น ต่างระดับท่าเรือ มุ่งหน้าอาจณรงค์ และทางด่วนเฉลิมมหานครเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช มุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสนอให้ติดตั้งไฟสัญญาณบังคับบนทางสายรองแบบอัตโนมัติ เพื่อเปิดทางให้รถสายหลักวิ่งไปก่อน 4.แผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.63 ตอนนี้มีโครงการกำลังทำตามแม่บทแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 เส้นทาง คือ 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกอยู่ระหว่างก่อสร้าง
2.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 อยู่ระหว่างเสนอ คจร. อนุมัติ
3.โครงการการแก้ปัญหาจราจรตามแนวตะวันออก ช่วงจากศรีนครินทร์-มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 มีอยู่ 9 โครงการ เช่น ปรับปรุงทางแยกต่างระดับทับช้าง/ ด่วนเก็บเงินทับช้าง, โครงการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดถนนศรีนครินทร์, ขยายช่องจราจรที่แยกต่างระดับมักกะสัน และ ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง และ 4.โครงการการศึกษาความเหมาะสมในกรก่อสร้างอุโมงค์ถนนทางด่วนใต้ดิน บริเวณพื้นที่บางนาเข้าสู่ใจกลางเมือง (อุโมงค์ทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบางนา-นราธิวาสราชนครินทร์) 8.7 กม. วงเงิน 84,300 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่า กทพ. กล่าวว่า ได้ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในระบบภาพรวมทั้งระบบ ปัจุจบันอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ และศึกษาแนวทาง มาตรการ และโครงการแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรยบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ ใช้เวลาศึกษา 10 เดือน เริ่ม ก.พ.-พ.ย.64 และ 2.งานศึกษาความเหมาะสมฯ และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) หรือ โครงการทางพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอื่นที่ กทพ. เห็นชอบ ใช้เวลา 15 เดือน พ.ค.64-ส.ค.65
ขณะที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า ทล. ได้นำระบบ M-Flow มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนมอเตอร์เวย์ 2 แบบ คือ 1.รถติดหน้าด่านเก็บเงิน ช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงวันหยุดยาว และ 2.รถติดช่วงจุดบรรจบ ทางร่วม ทางแยกฯ เช่น มอเตอร์เวย์ 7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ความคืบหน้าติดตั้ง M-Flow ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์และระบบ เพื่อเป็นไปตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่กำหนดช่วงไตรมาสแรกปี 64 หรือภายใน มี.ค.นี้ เริ่มลงทะเบียนทดลองใช้งานได้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในการติดตั้งกล้องตรวจจับป้ายทะเบียน ทล. ได้ติดตั้งเสาเพื่อติดตั้งกล้องครบทั้ง 4 ได้แก่ ด่านธัญบุรี 1, 2 และ ด่านทับช้าง 1, 2 แล้ว ส่วนการหาเอกชนเข้ามาติดตั้งกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนและจ้างมาบริหารจัดการระบบ ได้เอกชนที่ชนะแล้ว รอลงนามสัญญา ซึ่งตอนนี้สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังตรวจร่างสัญญา คาดว่าลงนามได้ภายใน ก.พ.นี้ และจะเร่งรัดเพื่อเปิดใช้ระบบต่อไป
สำหรับระบบการชำระเงินผ่านระบบอีเล็กทรอนิกส์ ทล.กับ กทพ. ได้ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ทราบแนวทางการใช้ระบบ M-Flow ทั้งระบบบัตรชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติ (อีซี่พาส) และ เอ็มพาส ระยะแรกจะให้ระบบ M-Flow ควบคู่กับช่องจักเก็บค่าผ่านทางทั้งเงินสด และช่องทางอัตโนมัติ โดยผู้ใช้ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกใช้งานก่อนเท่านั้นถึงจะสามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ ทล. กทพ. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ข้อสรุปชัดเจนกรณีที่ผู้ใช้ทางยังไม่ได้สมัครสมาชิกแล้วมาใช้ระบบ M-Flow จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานการใช้ช่องทางผิด จากนั้นจะออกใบสั่ง เพื่อให้มีผลต่อเรื่องการต่อทะเบียน