นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยถึงสถิติรถจดทะเบียนใหม่ทั่วประเทศภาพรวมปี 63 (เดือนมกราคม – ธันวาคม 63) พบว่ามีผู้นำรถใหม่ป้ายแดงมาจดทะเบียน รวม 2,638,466 คัน ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับสถิติรถจดทะเบียนใหม่ย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นรายปีจะพบว่า ลดลง 13.17%เมื่อเทียบกับปี 62 (จำนวนรถจดทะเบียนใหม่ 3,038,943 คัน) ลดลง 14.71%เมื่อเทียบกับปี 61 (จำนวนรถจดทะเบียนใหม่ 3,093,791 คัน) และลดลง 13.98%เมื่อเทียบกับปี 60 (จำนวนรถจดทะเบียนใหม่ 3,067,278 คัน)
ทั้งนี้คาดว่าส่วนหนึ่งเพราะความกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนจะมีความมั่นใจในการตัดสินใจครอบครองรถมากขึ้น เมื่อจำแนกการจดทะเบียนใหม่ตามประเภทรถ พบว่า รถที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ถยนต์ พ.ศ. 2522 มีสถิติดังนี้ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีสถิติการจดทะเบียน 559,553 คัน ลดลงจากปีก่อน22.63% อย่างไรก็ตามขณะที่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล มีสถิติการจดทะเบียน 226,399 คัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 16.45 และรถจักรยานยนต์(จยย.) มีสถิติการจดทะเบียน 1,681,437 คัน ลดลงจากปีก่อน 10.40%ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน มีสถิติการจดทะเบียน 28,962 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 45.05
สำหรับสถิติรถโดยสารสาธารณะที่จดทะเบียนภายใต้พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 พบว่า รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน หรือ แท็กซี่ มีสถิติการจดทะเบียน 3,674 คัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 53.82 รถยนต์รับจ้างสามล้อ หรือ ตุ๊กตุ๊ก มีสถิติการจดทะเบียน 194 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน25.25%ส่วนรถจักรยานยนต์สาธารณะ มีสถิติการจดทะเบียน 2,273 คัน ลดลงจากปีก่อน 44.53%
ในส่วนของรถที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มีสถิติดังนี้ รถโดยสารประจำทาง มีสถิติการจดทะเบียน 2,404 คัน ลดลงจากปีก่อน 35.41%รถโดยสารไม่ประจำทาง มีสถิติการจดทะเบียน 3,676 คัน ลดลงจากปีก่อน 52.21%รถโดยสารส่วนบุคคล มีสถิติการจดทะเบียน 697 คัน ลดลงจากปีก่อน18.95%ในส่วนของรถบรรทุกไม่ประจำทาง มีสถิติการจดทะเบียน 34,019 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.63%แต่รถบรรทุกส่วนบุคคล มีสถิติการจดทะเบียน 35,702 คัน ลดลงจากปีก่อน 5.22% ทั้งนี้จากสถิติรถจดทะเบียนใหม่ตลอดปี 63 ส่งผลให้จำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 31ธ.ค.63 มีจำนวนทั้งสิ้น 41,471,345 คัน โดยรถจักรยานยนต์สูงสุด 21,396,980 คัน รองลงมาคือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง)10,446,505 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล(กระบะ) 6,878,050 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้) 434,254 คัน รถจักยานยนต์สาธารณะ 170,506 คัน รถแท็กซี่ 80,172 คัน ส่วนรถโดยสารมีทั้งสิ้น 151,547 คัน และรถบรรทุก จำนวน 1,173,801 คัน