พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 13/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน บช.น. ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สืบเนื่องจากที่กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 17) โดยผ่อนปรนให้สามารถเปิดสถานประกอบการ 13 ประเภทได้ ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 64 เป็นต้นไป จึงขอให้คณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีสำนักเทศกิจเป็นเลขานุการคณะทำงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กอ.รมน. เป็นต้น เข้มงวดตรวจตราสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรม ที่ได้รับการผ่อนปรนให้สามารถเปิดกิจการได้ เพื่อให้คำแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 17) ดังกล่าว อย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานประกอบการใดยังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ขอให้แนะนำ ตักเตือน แต่หากยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามให้ครบถ้วน ให้สั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราว 14 วัน เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติให้ครบถ้วนต่อไป รวมทั้งขอให้สำนักงานเขตประสานสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ขอให้แนะนำให้นำแรงงานต่างด้าวดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และให้สถานประกอบการทำประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวทุกคน ในส่วนสถานที่ให้บริการจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ตรวจแนะนำ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว ศึกษาประกาศฯ และมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดฯ แนบท้ายประกาศฯ ฉบับที่ 15, 16 และ 17 ควบคู่กัน ซึ่งยังไม่มีประกาศฉบับใดยกเลิกมาตรการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารในสถานที่ดังกล่าวตามกำหนดเวลาระหว่าง 06.00-21.00 น. จึงยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมดังกล่าวต่อไป
เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ได้ให้สำนักอนามัยที่ค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ACTIVE CASE FINDING/Sentinel Surveillance ด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อจากน้ำลาย ในสถานประกอบการโดยเฉพาะโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มแรก ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม เขตบางบอน เขตบางแค และเขตจอมทอง รวมทั้งขอให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองตนเองผ่านระบบ BKKCovid-19 ของกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ตรวจคัดกรองตนเองผ่านระบบดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จนกว่าจะครบ 14 วันนับจากวันที่ไปในพื้นที่เสี่ยง
อย่ากังวลกรณีดีเจมะตูมไม่น่าเป็น Super spreader
สำหรับวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน จำนวน 5 ราย และจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จำนวน 8 ราย ในส่วนของราย ดีเจมะตูม ซึ่งคาดว่าได้รับเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 64 สำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าสอบสวนโรค และ SWAB ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้วทุกราย ผลพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม จำนวน 5 ราย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำได้ครบแล้ว คาดว่ากรณีดีเจมะตูมจะไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง หรือ Super spreader จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกหรือเป็นกังวลต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน