เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
การไต่สวนของ ป.ป.ช.
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ มาปีใหม่นี้ภัยโควิด-19 รอบสอง น่ากลัวกว่าปีที่ผ่านมา ก็ระวังๆ กันไว้มากๆ นะครับ ยิ่งปลายเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศอีก ซึ่งก็คาดเดาได้ว่า จะมีคนใช้สิทธิมากกว่าครั้งเลือก อบจ. เพราะจำนวนเทศบาล 2 พันกว่าแห่ง คงวุ่นวายมากกว่าเดิม กกต.ต้องตั้งหลักให้ดีนะครับ
มาว่าเรื่องการไต่สวนต่อครับ ตอนก่อนว่ากันถึงการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปบ้างแล้ว บางครั้งคดีอาจเกิดขึ้นมานาน หลายคนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาอาจจำไม่ได้ การไต่สวนจึงเปิดโอกาสให้กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก่อนจะไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาอาจยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือ พร้อมด้วยเหตุผลต่อคณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อประกอบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ ซึ่งคณะกรรมการไต่สวนหรือคณะไต่สวนเบื้องต้น จะอนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานตามที่ร้องขอก็ได้ เว้นแต่เป็นพยานหลักฐานที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของพยานบุคคล ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ร้อง เป็นต้น หรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการกระทำผิดตามที่กล่าวหา หรือกระทบต่อสาระสำคัญของพยานหลักฐานในคดี คณะกรรมการไต่สวนหรือคณะไต่สวนเบื้องต้นมีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่อนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานตามที่ร้องขอ
แน่นอนครับว่า เรื่องที่ว่านั้น ถ้าผู้ถูกกล่าวหาบางรายที่เป็นผู้มีอิทธิพลอาจไปข่มขู่หรือทำลายหลักฐานเหล่านั้นเสียก่อนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับอนุญาต ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิขอจดบันทึกหรือคัดลอกเอกสารได้ตามสมควรเท่าที่จะไม่กระทบต่อรูปคดีหรือการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ถูกกล่าวหาอาจนำทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจไม่เกิน 3 คน เข้าช่วยเหลือในการตรวจพยานหลักฐานด้วยก็ได้ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหามีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าตรวจพยานหลักฐานได้ด้วยตนเอง จะอนุญาตให้บุคคลอื่นที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกกล่าวหา เข้าตรวจพยานหลักฐานตามที่ร้องขอก็ได้เช่นกัน ซึ่งการตรวจสอบพยานหลักฐานเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหามักไม่ค่อยใช้สิทธิเท่าใดนัก
นอกจากนี้ หากผู้ถูกกล่าวหานำส่งพยานหลักฐานของตนเพิ่มเติม ผู้ไต่สวนจะไม่รับด้วยเหตุล่วงเลยเวลาหรือผิดขั้นตอนไม่ได้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติชี้มูลแล้ว หรือผู้ไต่สวนเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลาหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนด้วย หมายถึงว่า ผู้ถูกกล่าวหาสามารถใช้สิทธิยื่นพยานหลักฐานได้ตลอด ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติชึ้มูล นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วก็ตาม ถ้าคณะกรรมการไต่สวนหรือคณะไต่สวนเบื้องต้นเห็นสมควร ก็อาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยอาจสอบปากคำพยานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีคำสั่งเรียกเอกสารหรือหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลใด เพื่อประกอบการพิจารณาในการวินิจฉัยคดี ภายหลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบหรือได้รับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยได้ไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาแล้วก็ได้
บางครั้งในการทำสำนวนข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนหรือที่ผู้ถูกกล่าวชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ วอาจต้องหาหลักฐานประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน คณะกรรมการไต่สวนก็สามารถไปไต่สวนบุคคลหรือขอเอกสารจากหน่วยงานใดเพิ่มเติมได้ เรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้ทราบแนวทางสู้คดีในเบื้องต้นได้นะครับ เพราะถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในกำหนดเวลา และกรรมการไต่สวนหรือคณะไต่สวนเบื้องต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เขาก็จะทำสำนวนการไต่สวนหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป
การไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. เขายังให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอีกหลายเรื่องครับ อย่างเช่น ในระหว่างไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถรับทราบข้อกล่าวหา หรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือต่อสู้คดีได้คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะไต่สวนเบื้องต้นขอให้แพทย์ตรวจผู้นั้นโดยเร็ว เสร็จแล้วให้เรียกแพทย์ผู้ตรวจนั้นไปให้ถ้อยคำว่า ตรวจได้ผลประการใด เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา
ถ้ามีพยานหลักฐานเชื่อว่าผู้ ถูกกล่าวหาเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถรับทราบข้อกล่าวหา หรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือต่อสู้คดีได้ ให้งดการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นไว้จนกว่าผู้นั้นจะหายวิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้ และในการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสั่งจำหน่ายเรื่องผู้นั้นไว้ชั่วคราวก็ได้ ครับ การทำงานของ ป.ป.ช.แต่ละขั้นตอนค่อนข้างมีรายละเอียดมากมาย แต่นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องแสวงหาและรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ผิดหรือไม่ผิด ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วย แน่นอนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตนั้น ท่านอาจกังวลว่า ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วท่านจะถูกลงโทษทางอาญาเลยก็หาไม่ ยังมีกระบวนการยุติธรรมอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าทางอัยการและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ท่านอาจมีโอกาสต่อสู้คดีต่อไปได้
ก่อนจบตอนนี้ขอเล่าอุทธาหรณ์สักเรื่อง เมื่อกลางปีที่แล้วศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาคดีนายก อ.บ.ต.และรองนายก อ.บ.ต.แห่งหนึ่ง เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนในการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินและลงนามในใบถอนเงินกับเช็คธนาคารเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กและรื้อถอนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเก่า ซึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญามาตรา 151 และ157 ศาลฯ พิพากษาผิดมาตรา 157 จำคุกนายกฯ 3 ปี รองนายก 2 ปี เอาง่ายๆ คือ นายกกับรองนายกแกไปเรียกเงินจากผู้รับเหมา ถ้าไม่ให้ก็ไม่เซ็นเช็คให้ พฤติการณ์เรื่องนี้เช่นนี้เกิดมาหลายสิบปีแล้ว วันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนี้อีก ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นท่านไม่ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ก็ต้องถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เพราะประชาชนเริ่มเรียนรู้และเข้ามามีบทบาทช่วยตรวจสอบ ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.มากมายแล้วทุกวันนี้