นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากากระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอแผนงานโครงการงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี 2565 ของ 9 กระทรวง 33 หน่วยงาน ซึ่งเสนอคำขอกรอบวงเงิน 330,581 ล้านบาท โดยจากที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางรวมทั้งผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณากลั่นกรองเบื้องต้นเหลือ 327,174.2039 ล้านบาท
นายอนุทิน ได้เน้นให้การจัดทำโครงการของแต่ละหน่วยงานกระจายคลอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และให้มีการติดตามผลการดำเนินงานรายไตรมาส รวมทั้งกำชับให้ดำเนินแผนงานโครงการ เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอกรอบวงเงินตามที่ได้มีมติเห็นชอบ ไปยังสำนักงบประมาณในวันที่ 15 มกราคม 2564 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณต่อไป
สำหรับกรอบงบบูรณาการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 327,174.2039 ล้านบาท เป็นกรอบในส่วนของกระทรวงคมนาคม วงเงิน 325,880 ล้านบาท จำนวน11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 240,153 ล้านบาท มี 6 โครงการ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 28,178.73 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างทางหลวง มอเตอร์เวย์ ก่อสร้างสะพาน และจ่ายค่าเวนคืน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 955.43 ล้านบาท เช่น จ่ายค่าเวนคืน ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯและ ทางด่วนพระราม3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ,ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 18,003.58 ล้านบาท จำนวน 15 โครงการ เช่น ค่าเวนคืน ค่าสำรวจออกแบบ โครงการรถไฟทางคู่
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 20,609.13 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าเวนคืนและสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 13 โครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง ,ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะ และระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 11,034.99 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาศักยภาพสนามบินภูมิภาค 17 แห่ง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 818.33 ล้านบาท พัฒนาศูนย์ขนส่งชายแดนและสถานีขนส่งผู้โดยสาร นอกจากนี้ ยังมีกรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 5,370.39 ล้านบาท สำนักงบปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 192.08 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงิน 104.05 ล้านบาทและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 439.81 ล้านบาท กรมราง 96 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ราง
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กรอบ 3.2 แสนล้านบาทเป็นคำขอ ไม่ได้หมายความจะได้รับพิจารณาจัดสรรทุกโครงการ เพราะต้องขึ้นกับการพิจารณากรอบงบประมาณรวมปี 2565 ด้วย
ในส่วนของแผนงานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้มีการพิจารณาถึงความจำเป็น ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากย้อนดูการจัดสรรงบประมาณแผนงานบูรณาการได้รับจัดสรรไม่ถึง 50% ของกรอบคำขอ โดยจาก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ทำคำขอ 1.73 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรร 9.8 หมื่นล้านบาท ปี 2561 ทำคำขอ 1.88 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรร 1.11 แสนล้านบาท ปี 2562 ทำคำขอ 2.16 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรร 9.88 หมื่นล้านบาท ปี 2563 ทำคำขอ 2.07 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรร 8.9 หมื่นล้านบาท ปี 2564 เสนอคำขอจำนวน 2.64 แสนล้านบาท ได้รับจัดสรร ที่ 1.06 แสนล้านบาท