นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานผ่านการประชุมระบบทางไกล VDO CONFERENCE เรื่องแนวทางและแผนการดำเนินงาน โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องตัน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดล การพัฒนาการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ว่าการดำเนินโครงการได้คำนึงถึงความหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อการดำเนินโครงการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในปี 2564 นี้ จะดำเนินการศึกษา 6 ส่วน คือ 1.งานคัดเลือกที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่ จ.ชุมพร และจ.ระนอง 2.งานศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกโครงการในรูปแบบต่างๆ 3.งานออกแบบแนวคิดโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 4.งานศึกษาความเหมาะสมโครงการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 5.งานศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจ และทางเลือกการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
และ 6.ส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดระยะเวลาโครงการ เพื่อจะนำไปสู่การทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market sounding) ในขั้นต่อไป นอกจากนี้จะทำการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตลอดจนจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2562 เพื่อให้มีรายละเอียดเพียงพอสำหรับการดำเนินการประกวดราคาในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการบริหารจัดการท่าเรือแบบอัตโนมัติ (Fully Automate Port) รวมทั้งให้ สนข. จัดทำรายละเอียดของเนื้องาน โดยเฉพาะการคัดเลือกทำเลที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก และงบประมาณที่จะดำเนินงานใน 64 ให้ชัดเจน และศึกษาหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการในขั้นต่อไปเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ รวมทั้งประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อศึกษาแนวทางเรื่องการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อต่อไปด้วย