นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามนโยบายปี 2564 เรื่องการบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (MR-Map) ว่า ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาโครงข่าย MR-Map โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน)
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ MR-Map ที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้น ได้มอบหมายให้ ทล. เป็นเจ้าภาพหลักในการจ้างศึกษาจัดทำแผน MR-Map และดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 และให้ ทล. และ รฟท.วางแผนงานเพื่อเริ่มทำการเวนคืน และก่อสร้างในปี 2565-2566
สำหรับ MR-Map นั้น คณะทำงานฯ ได้สรุปผลการประชุมที่สำคัญว่า ในส่วนของระเบียงเส้นทางใน MR-Map จะมีจำนวน 9 เส้นทาง รวมระยะทาง 5,000 กิโลเมตร (กม.) ทั่วประเทศ แบ่งเป็น แนวเหนือใต้ (N-S) จำนวน 3 เส้นทางระยะทาง 2,620 กม. ได้แก่ 1.เชียงราย-สงขลา 1,660 กม. 2.หนองคาย-แหลมฉบัง 490 กม. และ 3.บึงกาฬ-สุรินทร์ 470 กม. ขณะที่ แนวตะวันออกตะวันตก (E-W) จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 2,380 กม. ได้แก่ 1.ตาก-นครพนม 710 กม. 2.กาญจนบุรี-อุบลราชธานี 830 กม. 3.กาญจนบุรี-สระแก้ว 310 กม. 4.กาญจนบุรี-ตราด 220 กม. 5.ชุมพร-ระนอง 120 กม. และ 6.ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี 190 กม.
ทั้งนี้ในส่วนของกรอบแนวคิดในการดำเนินการศึกษา MR-Map ตามที่ ทล.ได้รายงานมานั้น มีทั้งแนวเขตทางถนน และเขตทางรถไฟอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาเส้นทางใหม่ในอนาคต เพื่อบูรณาการใช้พื้นที่เขตทางถนน และเขตทางรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ ลดพื้นที่การเวนคืน และลดปัญหาการแบ่งแยกชุมชนโดยในการศึกษาจะทำการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ 3 เส้นทาง เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการศึกษาความหมาะสมโครงการ และการออกแบบเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการศึกษาการพัฒนาโครงข่าย MR-Map จะแล้วเสร็จช่วงกลางปีนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ก่อนการสรุปผลการศึกษาช่วงปลายปี 2564
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้ ทล.ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั้ง 9 เส้นทาง และสามารถดำเนินการให้ถึงขั้นตอนการให้เอกขนร่วมลงทุน (PPP) รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนกำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการ และแผนปฏิบัติการ (Action Pan) แต่ละเส้นทางให้ชัดเจน และเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ให้มีการบูรณาการแผน เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล