กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กระทบสุขภาพเด็กนักเรียน จับมือกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันแนะแนวทางและมาตรการเพื่อป้องกันช่วงเปิดเรียนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการแถลงข่าวสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพ แนวทางและมาตรการเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสำหรับสถานศึกษา ร่วมกับ ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การเฝ้าระวังอาการจากการเฝ้าระวังตนเองของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของอนามัยโพล เมื่อวันที่ 25 –31 มกราคม 2564 พบว่า ผู้ที่มีอาการในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีอาการหายใจมีเสียงหวีด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และไอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่พบว่ามีอาการมากที่สุด ได้แก่ ราชบุรี รองลงมาคือ ตาก กรุงเทพมหานคร และเชียงราย ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แรกที่มีการเปิดโรงเรียนในพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครปริมณฑล และต่างจังหวัด หลังจากมีมาตรการผ่อนคลายเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นและกระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนได้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองยังมีความกังวลต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางมาโรงเรียนและอาจมีกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน โดยจากการสอบถามความกังวลของผู้ปกครองในประเด็นสุขภาพเด็กและฝุ่นละออง ระหว่างวันที่ 22-31 มกราคม 2564 จำนวน 881 คน พบว่า ร้อยละ 95.1 มีความกังวลว่าเด็กจะหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าสู่ร่างกาย ร้อยละ 93.1 มีความกังวลว่าฝุ่นจะทำให้เด็กมีอาการระคายเคืองตา จมูก และร้อยละ 90.7 มีความกังวลว่าสถานการณ์ PM 2.5 อาจจะทำให้ต้องหยุดเรียน เรียนไม่ทัน และสิ่งที่ต้องการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเด็ก คือ ความรู้ คำแนะนำในการป้องกัน ดูแลสุขภาพ สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่นในเด็ก รวมทั้งจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หรือในที่สาธารณะ
“ขณะนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สำหรับสถานศึกษา และจะมีการปฏิบัติการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครอง และตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียน เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กให้มากที่สุด โดยเฉพาะการให้ความรู้แก่นักเรียนถึงอันตรายและวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง ติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์ทุกวัน และมีมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาตามระดับฝุ่นละออง เช่น เมื่อค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง-ส้ม ควรลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งการเข้าแถวหน้าเสาธงหรือกิจกรรมพลศึกษา เด็กที่มีโรคประจำตัวหรือเด็กเล็กควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หรือจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน สำหรับในส่วนของผู้ปกครองนั้น ควรดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเมื่อต้องเดินทางมาโรงเรียน ดังนี้ 1) เช็คค่าฝุ่นทุกเช้าก่อนพาลูกไปโรงเรียน 2) วางแผนหรือวิธีการเดินทางเพื่อลดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด เช่น จากการเดินให้เปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะ 3) สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นให้เด็กที่มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า 4) สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาให้พร้อมและแจ้งผู้ดูแลหรือครู หากมีอาการผิดปกติ ให้พาไปพบแพทย์ รวมทั้งลดระยะเวลาการเดินทาง ลดการอยู่กลางแจ้งและกลับบ้านให้เร็วที่สุด พร้อมสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นตลอดเวลาที่อยู่กลางแจ้ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการเร่งด่วน เช่น ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน และสถานศึกษา ติดตามสถานการณ์ และตรวจสอบคุณภาพอากาศประเทศไทยทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของ กรมควบคุมมลพิษเป็นประจำทุกวัน หากพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพให้พิจารณาเปิด – ปิดสถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ.2549 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และให้สถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครอง และนักเรียน ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และ 2) มาตรการระยะยาว เช่น หน่วยงานและสถานศึกษารณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือวางแผนการเดินทางโดยใช้รถยนต์ร่วมกัน รวมทั้ง หน่วยงานและสถานศึกษา รณรงค์ และสร้างแรงจูงใจให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงการเพิ่มและจัดการพื้นที่สีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มพันธุ์ไม้ฟอกอากาศและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี และมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกัน แก้ไข และลดปัญหา อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน