นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ OTOP ศรีสะเกษ โดยมี นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และแขกผู้มีเกียรติฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดศูนย์ OTOP ศรีสะเกษ แหล่งรวบรวมภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสินค้าของชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการในด้านการตลาด เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้า รองรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างจังหวัดที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ภาคีเครือข่ายการพัฒนา องค์กรภาคเอกชน กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP และประชาชนชาวศรีสะเกษร่วมให้การต้อนรับ ณ ลานของดี๊เมืองศรีเกษ (บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ หลังที่ 3) ศูนย์ OTOP ศรีสะเกษ
ในการนี้ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวรายงานการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและจำหน่ายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสืบสาน รักษา ต่อยอด ให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศวาระจังหวัดศรีสะเกษในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวศรีสะเกษ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลไกสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศวาระจังหวัดในการพัฒนาผ้าทอ โดยขับเคลื่อนภูมิปัญญาด้วยการพัฒนาคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐาน และการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การฝึกอบรมทักษะการแส่ว การนำวัสดุธรรมชาติมาย้อมผ้า ภายใต้แนวคิด “ศรีสะเกษธานีผ้าศรี…แส่ว” ซึ่งการจำหน่ายสินค้า OTOP ในปี 2563 มียอดการจำหน่ายจำนวน 6,125,553,509 บาท โดยสินค้าประเภทผ้ามีเป้าหมายการจำหน่าย 1 พันล้านบาท จำหน่ายได้ 978,342,747 ล้านบาท และในปี 2564 ได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนา ย้อม ทอ แส่ว ออกแบบ แปรรูปและจำหน่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1 พันล้านบาท โดยใช้ศูนย์ OTOP เป็นสถานที่บริการนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงเป็นสถานที่รับออเดอร์ออนไลน์ และเป็นที่รวบรวมการสั่งซื้อออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวศรีสะเกษ ได้มีการบูรณาการขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วนทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการนำนโยบายของรัฐบาลมาใช้ในระบบการซื้อขาย เช่น โครงการช๊อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และโครงการไทยชนะ ซึ่งทำให้ยอดการผลิต และจำหน่ายสินค้า OTOP ทุกประเภท มีการหมุนเวียนซื้อ-ขาย ลดลงเพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้า OTOP ของจังหวัดศรีสะเกษ อย่างครบวงจร โดยเปิดให้บริการประชาชนผู้สนใจทั่วไป ภายใต้แนวคิด “มาหน้าร้านเราขาย สั่งออนไลน์เราส่ง” อันเป็นการสร้างช่องทางการกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับพี่น้องชาวศรีสะเกษอย่างยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้มีนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอัตลักษณ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนช่วยเหลือด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำสู่เป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ
1. พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพระดับสากล
2. มีเอกลักษณ์เป็นที่ลือชื่อเพียงหนึ่งเดียว
3. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปรับปรุงเทคโนโลยี
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้กลไกประชารัฐในพื้นที่ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทุกระดับบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยึดความต้องการของประชาชนในพื้นที่และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาสร้างการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน