นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 METI ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่บัญชีรายชื่อองค์กรในประเทศที่ได้รับการรับรองระบบงาน ICP แบบสมัครใจ จำนวน 657 องค์กร จากเดิม 634 องค์กร ตามบัญชีรายชื่อฯ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีตั้งแต่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตและดำเนินกิจการครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี โทรคมนาคม อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องจักร ยานยนต์ โลหะภัณฑ์ เทรดดิ้ง เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนจำนวนมากของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบงาน ICP แบบสมัครใจ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดรัดกุมมาก
ระบบงาน ICP แบบสมัครใจ จะมีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าระบบงาน ICP ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าควบคุมต้องดำเนินการเป็นการทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตรวจประเมินระบบงาน ICP รวม 8 หัวข้อ ประกอบด้วย (1) การกำหนดโครงสร้างและความรับผิดชอบด้านการควบคุมการส่งออกขององค์กร (Export Control Organization) (2) การจำแนกและตรวจคัดกรองธุรกรรมเพื่อวินิจฉัยตรวจสอบการเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้ายตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ (Classification and Screening Procedure) (3) การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของการดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนดก่อนการส่งออก (Shipment Controls) (4) การตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายงานทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการส่งออก (Internal Auditing) (5) การฝึกอบรมบุคลากรและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการการดำเนินงานที่ถูกต้องตามข้อกฎหมายและระเบียบภายในองค์กรให้แก่บุคลากร (Training and Education) (6) การกำกับดูแลเอกสาร (Document Controls) เพื่อให้มีการจัดเก็บเอกสาร หลักฐาน รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี (7) การให้คำแนะนำแก่บริษัทในเครือ (Guidance for Subsidiaries) เพื่อให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายขององค์กรและกฎหมายของประเทศ ที่บริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ และ (8) การรายงานและการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ (Report and Prevention of Recurrence) เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางป้องกันการเกิดเหตุซ้ำร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อให้องค์กรมีบทลงโทษที่เหมาะสม
องค์กรที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่มีระบบงาน ICP แบบสมัครใจกับ METI จะต้องมีระบบงาน ICP ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นครบทั้ง 8 ข้อ และเมื่อได้รับการรับรองแล้ว จะต้องยื่นแบบการตรวจประเมินรวมถึงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี โดยรัฐจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่องค์กรที่มีระบบงาน ICP แบบสมัครใจ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนจัดทำระบบงาน ICP ดังกล่าว ดังนี้ (1) สามารถขอให้ METI ประกาศชื่อองค์กรในเว็บไซต์เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการประชาสัมพันธ์ (2) ได้รับการพิจารณาออกใบอนุญาตแบบรายครั้งก่อนกรณีองค์กรที่ไม่มีระบบงาน ICP แบบสมัครใจ (3) สามารถยื่นขอใบอนุญาตส่งออกแบบครอบคลุม และ (4) ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายแลกเปลี่ยนเงินตราและการค้าต่างประเทศจาก METI ทางอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้
นายธัชชญาน์พลฯกล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อองค์กรที่มีการจัดทำระบบงานICPแบบสมัครใจฉบับล่าสุดของญี่ปุ่นได้ทีเว็บไซต์ https://www.meti.go.jp/policy/anpo/compliance_programs_pdf/20201222_kouhyougenkou.pdf และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่น รวมถึงรายชื่อผู้ใช้สุดท้ายที่ควรเฝ้าระวัง ได้ที่เว็บไซต์ https://www.meti.go.jp/policy/anpo/englishpage.html