เอ็ตด้าโชว์ร่างฯ แผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมชาติ ชวนหน่วยงานรัฐ-เอกชน เชื่อมโยงภารกิจกับแผน ขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ผุด 4 โปรแกรมสำคัญช่วยผลักดัน ยก“ดิจิทัล ไอดี” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศพร้อมวางเป้าหมายในปี 2565 ช่วยดันไทยท๊อป 20 พร้อมหนุนศูนย์ฯที่มุ่งเน้นการทำวิจัย การพัฒนาคน มีทั้งมาตรการให้ความรู้ข้อมูลด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รอบด้าน
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติ ท(พ.ร.บ.) ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 วรรค 2 ได้กำหนดให้เอ็ตด้าจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ให้ความเห็นชอบนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา เอ็ตด้าได้ดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 (แผนระดับที่ 3) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) แล้ว
หลังจากนี้ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อประกาศใช้ในลำดับต่อไป โดยมีเป้าหมายหลักคือ World Bank’s Ease of Doing Business ของประเทศเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 21 ในปี 2563 เป็นท๊อป 20 ในปี 2565 และความเชื่อมั่นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 4% ต่อปีเป็น 85% ในปี 2565
โดยมียุทธศาสตร์หลัก 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นภายในระยะ 2 ปีนี้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับระบบการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ได้มาตรฐาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้พร้อมยกระดับความพร้อม
“ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 4 นั้น เราได้จัดตั้งคณะทำงานภายในขึ้น 4 โปรแกรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564-2565 โดยเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มียูส เคสที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า และความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น โดยมีตัวชี้วัด และเป้าหมายในการผลักดัน ดังนี้”
โปรแกรมที่ 1 ดิจิทัล ไอดี สำหรับ อีโคโนมี และ สังคมมุ่งเน้นประเด็นการยืนยันตัวตนทางออนไลน์ (ดิจิทัล ไอดี) เป็นเครื่องมือหรือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการใช้งานประกอบการทำธุรกรรมในรูปแบบต่างๆ โปรแกรมที่ 2 ไทยแลนด์ ดิจิทัล เซอร์วิส และ ครอส ดิจิทัล แพลตฟอร์ม สแตนดาร์ด ในโปรแกรมนี้เน้นหนักในด้านมาตรฐาน (แนะนำ, บังคับ) กฎหมาย มาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจบริการ (ดิจิทัล อี-เซอร์วิส)
โปรแกรมที่ 3 อี-ทรานเซกชั่น สแตนดาร์ด โปรโมชั่นที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมฯ ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของมาตรการ เรื่องธุรกิจบริการ และโปรแกรมที่ 4 อี-ทรานเซกชั่น อินเทลลิเจนท์ เซ็นเตอร์ ที่มุ่งเน้นการทำวิจัย การพัฒนาคน และสร้างความตระหนักให้กับภาคประชาชน ซึ่งจะมีทั้งมาตรการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ รวมถึงการหาแนวทางการจัดการข้อมูลด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งมีศูนย์รวมข้อมูลและผลการศึกษาวิจัยด้านธุรกรรมครบวงจร