เขียนให้คิด : โดย ซี ศูนย์
กรณีตัวอย่าง การชี้มูลมาตรฐานจริยธรรมของ ป.ป.ช.
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ก่อนจะว่ากันต่อไปถึงเรื่องการพิจารณาและการจัดทำสำนวนของ ป.ป.ช. ก็มีข่าวใหญ่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีกเรื่องหนึ่ง ที่ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด ส.ส.หญิงชื่อดัง กรณีฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งท่านผู้อ่านคงทราบข่าวมาบ้างแล้ว แต่ขอเล่ารายละเอียดของเรื่องอีกสักครั้งเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่อยู่ในหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องไต่สวนหากเกิดเรื่องร้องเรียนข้าราชการหรือนักการเมืองและจะเป็นอุทธาหรณ์สำหรับนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแม้แต่องค์กรอิสระก็ตาม
เรื่องนี้เดิมกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) รายงานไปยัง ป.ป.ช. กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ทาง ป.ป.ช.ได้รับพิจารณาและแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ และสรุปข้อเท็จจริงเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณาผิดจริยธรรมร้ายแรงหลายข้อด้วยกัน อาทิ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์, ผลประโยชน์ขัดกัน
โดยปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามที่นางสาวปารีณาได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยระบุว่า มีรายการที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) จำนวน 29 แปลง พื้นที่ประมาณ 853 – 0 – 73 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยอาศัยพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่หน่วยงานราชการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน
ต่อมาปี พ.ศ. 2554 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และ ส.ป.ก ได้ดำเนินการโดยปิดประกาศให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทุกปี ซึ่งที่ดินดังกล่าว ส.ป.ก. และกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกำกับดูแลพื้นที่และมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
จากการไต่สวนปรากฏว่า นางสาวปารีณาได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711 – 2 – 93 ไร่ โดยมีพฤติการณ์ ดังนี้ ในปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2562 มีการขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2556 มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลง ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่ง
และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของนางสาวปารีณาทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว เนื่องจากที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ซึ่งกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5) และให้งดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินและการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่นางสาวปารีณา ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2562 นางสาวปารีณาได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 นางสาวปารีณาได้เข้าปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าว โดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดินจาก ส.ป.ก.และกรมป่าไม้
โดย ส.ป.ก.ได้แจ้งให้นางสาวปารีณาส่งคืนที่ดินที่ครอบครองและทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้งกรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวปารีณาในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711 – 2 – 93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท ครับ
เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยด้วยเหตุผลประการใดคงต้องต่อตอนหน้า เพราะจะได้บอกเล่าถึงเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของบรรดาเจ้าพนักงานของรัฐว่าอย่างไรคือการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ต้องถูก ป.ป.ช.ชี้มูลบ้าง ซึ่งก็หวังให้ว่าท่านที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นจะได้ระมัดระวังไม่ให้ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยนะครับ พบกันตอนหน้าครับ