เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงประโยชน์ของการนำกัญชาและกัญชงไปใช้ทางการแพทย์ว่า กัญชาซึ่งมีสาร THC มากกว่าร้อยละ 1 เมื่อได้รับสารแล้วจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม หากได้รับสาร THC ในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีประชาชนบางส่วนนำใบของกัญชาไปชงน้ำดื่มซึ่งจะช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย ในส่วนของกัญชงซึ่งมีสาร THC น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยสาร CBD ที่อยู่ในช่อดอกสามารถนำไปใช้ทำยารักษาโรคชัก พาร์กินสันและอัลไซเมอร์ รวมทั้งใช้ประกอบอาหาร เครื่องสำอางและใช้เป็นยาภายนอกเพื่อรักษาอาการแก้อักเสบได้ ส่วนเมล็ดของกัญชงมีสารอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน โอเมก้า 3 และ 6 สามารถนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมได้ ขณะที่น้ำมันจากเมล็ดกัญชง มีลักษณะคล้ายน้ำมันพืชใช้ประกอบอาหารได้เช่นเดียวกัน
กัญชาและกัญชงตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยผู้ที่มีความประสงค์จะปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิจัย จะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย ซึ่งขณะนี้มีการออกใบอนุญาตแล้วกว่า 200 ราย ได้แก่ โมเดลวิสาหกิจชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาโรค และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
ส่วนผู้ที่มีความประสงค์จะปลูกกัญชง เพื่อประโยชน์ด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาวิจัย หรือทำเมล็ดพันธุ์รับรอง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถยื่นขออนุญาตปลูกได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ขออนุญาตจะต้องมีความพร้อมทั้งสถานที่ปลูก มาตรการรักษาความปลอดภัย การเตรียมการเรื่องเมล็ดพันธุ์และข้อมูลคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากอนุกรรมการและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษด้วย ซึ่งมีระยะเวลาการขออนุญาตประมาณ 1-2 เดือน