น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้สะท้อนถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช ว่า เมื่อพูดถึงผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ หรืออาจเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ โดยส่วนหนึ่งอาจมองว่า การป่วยเป็นการเสแสร้ง หรือแกล้งทำ เป็นการเรียกร้องความสนใจ ดูเหมือนคนปกติทั่วไป รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ก็ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคมตลอดชีวิต เป็นตราบาปติดตัว ชุมชนหวาดกลัว สังคมรังเกียจ ญาติรู้สึกอับอาย หรือแม้แต่การนำเสนอผ่านสื่อหรือการใช้คำพูดที่ล้อเลียนผู้ป่วยทางจิต เช่น คนบ้า คนไม่เต็มบาท คนไม่ครบ ไม่สมประกอบ หรือเห็นใครทำอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนคนอื่น ก็เรียก โรคจิต ซึ่งล้วนก่อให้เกิดภาพลบตอกย้ำให้เกิดตราบาปต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเข้ารับการรักษา ทั้งๆที่ ในความเป็นจริง “โรคนี้รักษาได้”
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี แบ่งออกได้หลายกลุ่มตามลักษณะและความรุนแรงของการแสดงออก ได้แก่ กลุ่มวิตกกังวล กลุ่มซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน และกลุ่มโรคจิต ที่พบบ่อย เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล ออทิซึม ความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สารเสพติด และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดี และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนและสังคมได้ตามปกติ หัวใจสำคัญในการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช จึงอยู่ที่ การดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด ตลอดจน ครอบครัว ชุมชนและสังคมต้องเข้าใจและยอมรับ ว่า การป่วยทางจิตไม่ต่างจากการป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเช่นกัน ที่สำคัญ ต้องช่วยกัน ลดอคติ ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง ส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงการรักษา ให้กำลังใจและให้โอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เพราะหากเกิดสภาพแวดล้อมที่แปลกแยก หรือ กดดัน กีดกัน รังเกียจ จะยิ่งเพิ่มปัญหาต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกดดัน ปลีกตัว อาการกำเริบ หรืออาละวาดขึ้นมาได้ และ ที่ต้องระวัง คือ อย่าให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้อาการทางจิตกำเริบรุนแรงมากยิ่งขึ้น
หากพบเห็นผู้ที่มีความผิดปกติหรือสงสัยว่าอาจเจ็บป่วยทางจิต ข้อสังเกตเบื้องต้น คือ ผู้ป่วย จะมีความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ สังเกตได้จากลักษณะท่าทาง สีหน้า แววตา ที่แตกต่างจากคนทั่วไป หากพบ ขอให้หยุดนิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการหรือปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 สามารถโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อนำตัวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสังคมจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวช ขณะเดียวกันเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ตลอดจน ขอให้ระมัดระวัง ไม่ส่งต่อหรือเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วยไม่ว่าจะด้วยช่องทางหรือวิธีใดก็ตาม หากฝ่าฝืน มีบทลงโทษ จำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
“โรคทางจิตเวช ไม่ใช่โรคร้าย ไม่ใช่ตราบาป ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย เกิดขึ้นได้กับทุกคนเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังทั่วไป ซึ่งสามารถรักษาให้หายกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า ขอเพียงเข้าใจ ยอมรับ และให้โอกาส” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว