นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐ อาทิ การอนุญาตให้สถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติ การขยายเวลานั่งรับประทานในร้านอาหารถึง 23.00 น. รวมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ รวมทั้งการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในด้านการส่งออกมี คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องรวมทั้งอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,403 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 55.4, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 47.1 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 42.5 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 68.5, และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 35.1 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.0 จากระดับ 91.1 ในเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาค การผลิตขยายตัว รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ และจีน มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 2.อนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 3.ภาครัฐควรดำเนินมาตรการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการฉีดวัคซีน COVID-19 ตามแผนให้แก่ประชาชนแล้ว4.เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม5. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสมาชิก พบว่ามีสมาชิกแสดงความจำนงขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัท ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมในการจัดซื้อวัคซีน โดสละกว่า 1,000 บาท (ต้องฉีดคนละ 2 โดส) เพื่อดูแลแรงงานและสถานประกอบการของตนให้รอดพ้นจากความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยพบว่าผู้ประกอบการกว่า 60% ที่แสดงความต้องการฉีดวัคซีนนั้น อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคเอกชนด้วย เช่น นำค่าวัคซีนมาใช้ลดหย่อนภาษี ซึ่งที่ผ่านมา ส.อ.ท.เข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตชุด PPE การผลิตหน้ากากอนามัย การผลิตตู้แช่วัคซีน และการจัดตั้ง รพ.สนาม เป็นต้น