เล็งต่อยอดการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพิ่มบทบาทประชาชนมีส่วนร่วมจัดการปัญหาข่าวปลอม ปลื้มมีผู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ตรวจสอบแล้วผ่านช่องทางต่างๆ 16.7 ล้านคน สร้างบุคลากรและเครือข่ายผู้ประสานงานทั้งภาครัฐ/เอกชน ไม่ต่ำกว่า 400 คน
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า ปีนี้เตรียมต่อยอดการทำงานของ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ที่ดำเนินงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้เพิ่มระดับการสร้างความมีส่วนร่วมกับประชาชน ในการจัดการปัญหาข่าวปลอมที่ผ่านมาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประสบความสำเร็จแล้วระดับหนี่ง
ในแง่การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนจะเผยแพร่หรือส่งต่อบนอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่ผ่านการยืนยันแล้ว และเป็นช่องทางสำหรับรับแจ้งเบาะแสของข้อมูลเท็จที่เผยแพร่อยู่ในสังคม 5 ช่องทาง ได้แก่
1.บัญชีไลน์ทางการ @antifakenewscenter มีผู้ติดตามกว่า 2.39 ล้านคน @antifakenewscenter 2.เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand จำนวนผู้ติดตาม 72,810 คน 3.ทวิตเตอร์ @AFNCTHAILAND มีผู้ติดตาม 8,991 คน 4. เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com มีประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้วกว่า 5.2 ล้านครั้ง และ 5.ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ GCC1111 กด 87
“จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกพบว่า ในภาพรวมประชาชนมีการเข้าถึง (Reach) โพสต์ต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จำนวน 16.97 ล้านคน (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.62 – 10 มี.ค. 64) และได้รับความสนใจจากสื่อหลักนำข้อมูลไปนำเสนอผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กว่า 1.83 ล้านครั้ง” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว
ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบไปแล้ว จำนวน 1,399 เรื่อง จำแนกตามกลุ่มข่าว ดังนี้ ด้านสุขภาพ จำนวนเผยแพร่ 897 เรื่อง ด้านนโยบายรัฐ 362 เรื่อง ด้านภัยพิบัติ 80 เรื่อง และด้านเศรษฐกิจ 60 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายผู้ประสานงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไปแล้วกว่า 400 คน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านการวิเคราะห์เนื้อหา บริหารการข่าว และการรับแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้โครงการ และดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนและสื่อมวลชน
อีกทั้ง มีเครือข่ายผู้ประสานงานกว่า 300 หน่วยงาน ในการตรวจสอบและแจ้งเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน สังคม เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของประเทศในวงกว้าง โดยโครงการได้พัฒนาระบบออนไลน์ เพื่อใช้สำหรับการประสานงานของเครือข่ายเพื่อใช้ตรวจสอบข่าวปลอม ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการนำเสนอและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารร่วมกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสื่อหลักที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก และการนำเสนอส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชี้นำทางสังคม