นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟต จำนวน 39,560 ราย ผลการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าว เป็นจำนวนเงินกว่า 101.4 ล้านบาท รวมทั้งหลักเกณฑ์การเบิกค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้าและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2558 รวมถึงราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาวิจัยข้อมูลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่าปัจจุบันผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยลดลง และการได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟตต้องได้รับยาในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี จะช่วยลดอาการปวดและช่วยลดการแคบของข้อได้ดีกว่าการใช้ยาในระยะสั้น กรมบัญชีกลางจึงร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์ข้อสะโพกข้อเข่าแห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้าและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยให้การเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต เป็นไปตามแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต และใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิเท่านั้น โดยการสั่งใช้ยาต้องไม่เกินครั้งละ 12 สัปดาห์ ,การเบิกจ่ายค่ายาคอนดรอยตินซัลเฟต ไดอะเซอเรน และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และการเบิกจ่ายค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมให้เบิกจ่ายในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ผู้มีสิทธิ์ไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงิน มายื่นเบิกค่ายากับส่วนราชการต้นสังกัดได้ทุกกรณี ทั้งนี้การปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเพื่อทำการรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่งผลให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางมารับยา