ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
จีนกับเมียนมา 3
01 เม.ย. 2564

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ                                                    

จีนกับเมียนมา 3

ช่วงแรกที่ชาวเมียนมาออกมาลงเดินถนนประท้วงกองทัพที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้เขียนได้เขียนทิ้งท้ายคอลัมน์นี้ในฉบับที่ 350 ว่า…..การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ ถ้ากระแสต่อต้านไม่ถูกปลุกสู่ระดับความรุนแรง นอกจากกองทัพจะได้ถือครองอำนาจแล้ว โครงการต่างๆ ของจีนคงจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังแบบไร้อุปสรรค

เช่นเดียวกับที่เขียนทิ้งท้ายไว้ในฉบับที่ 351 ว่า.....รัฐบาลจีนสามารถควบคุมความคิดเห็นของชาวจีน 1,400 ล้านคน ได้ด้วยปัจจัยมากมาย แต่กับชาวเมียนมา 54 ล้านคน ที่เพิ่งถูกกองทัพปล้นประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องอันตราย

มาถึงวันนี้ สถานการณ์ในเมียนมาต้องใช้คำว่า “ลุกเป็นไฟ” อันเนื่องมาจากการที่ประชาชนทั่วทั้งประเทศไม่พอใจการทำรัฐประหารของกองทัพที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย การเดินขบวนต่อต้านและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และพรรคพวกที่ถูกจับกุมตัว แม้จะกระทำโดยสงบสันติ แต่กลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากฝ่ายตำรวจและทหาร ที่เริ่มต้นจากการฉีดน้ำ กระบอง ไปจนถึงกระสุนจริง เหมือนเลียนแบบกองทัพไทยตอนปราบการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่ตายไปเกือบ 100 คน แต่ที่เมียนมาโหดกว่าเยอะ เพราะถึงวันที่ปิดต้นฉบับนี้ มีตัวเลขการเสียชีวิตกว่า 220 คน และถูกจับกุมอีกกว่า 2,000 คน โดยมีแนวโน้มว่า จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าที่กองทัพเมียนมาจะตัดการสื่อสารด้านอินเตอร์เน็ต เหมือนตั้งใจจะปิดประเทศจากสายตาโลกภายนอก ภาพของกรุงย่างกุ้งที่ท้องฟ้าแดงฉานของแสงเพลิงและควันไฟจากการเผาไหม้อาคารและยางรถยนต์  ภาพของก้อนอิฐ ถุงทราย ถังน้ำมัน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ถูกผู้ชุมนุมขนมาตั้งกีดขวางกลางถนน ทำเป็นบังเกอร์ป้องกันการโจมตีจากตำรวจและทหารนั้น คือหลักฐานการปฏิเสธอำนาจจากกองทัพ 

แต่วันนี้ หลังแนวบังเกอร์ในกรุงย่างกุ้งและอีกหลายเมือง หลังกลับไร้ผู้คนจนดูเสมือนเป็นเมืองร้างกลางไฟสงคราม เพราะมีการอพยพออกจากเมือง หลังกองทัพประกาศภาวะฉุกเฉิน และความหวาดกลัวที่จะถูกทหาร ตำรวจ บุกค้นบ้านเพื่อจับกุมตัว หรือซ้อมและฆ่าอย่างไร้เหตุผล

อย่างไรก็ตาม การหลบเลี่ยงไม่ปะทะกับกองกำลัง การอพยพออกจากเขตประกาศภาวะฉุกเฉินย่อมมิใช่ชัยชนะของกองทัพ เพราะเหตุการณ์เผาโรงงาน โรงแรม และร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับคนจีน 32 แห่ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คือสัญญาณการตอบโต้ที่ผู้ประท้วงเคยชูป้ายไว้ก่อนหน้าแล้วว่า “หากพลเรือนเสียชีวิต โรงงานจีน 1 แห่ง จะกลายเป็นเถ้าถ่าน

แล้ววันนี้ “จีน” ซึ่งถูกมองว่า เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของกองทัพเมียนมา เป็นเป้าที่สหรัฐอเมริกาต้องการลดบทบาทในทุกเวทีของโลก ได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเผาโรงงานและธุรกิจจีนในเมียนมาเป็นไปได้ว่า อาจเป็นฝีมือของผู้ประท้วง ทหาร และมือที่ 3 ที่ต้องการใช้จีนเป็นเหยื่อ และเมื่อสถานทูตจีนในเมียนมากับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ออกมาเรียกร้องให้ทางการเมียนมาหาทางปกป้องทรัพย์สินและชีวิตคนจีนในเมียมา พร้อมเรียกร้องความเสียหาย โดยไม่กล่าวถึงชาวเมียนมาที่บาดเจ็บหรือล้มตายจากการปราบปรามเลย ก็ยิ่งเป็นการโหมไฟความเกลียดชังจีนในเมียนมายิ่งขึ้น

คนจีนและคนเอเชียตาตี่ กลายเป็นที่เกลียดชังของฝรั่งชาติตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีทั้งทำร้ายด้วยวาจา ด้วยหมัดและด้วยลูกปืน จนบาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วจำนวนมาก  วันนี้คนจีนในเมียนมากำลังจะกลายเป็นเป้าการต่อต้านการรัฐประหารไปด้วย เพราะถูกมองว่า รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนเผด็จการ เพราะจีนจ้องแต่ตักตวงผลประโยชน์จากเมียนมา     

เมื่อเผาโรงงานที่ตั้งอยู่กลางเมืองได้ “ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน” ระหว่างจีนกับเมียนมา ที่อยู่ในฝั่งเมียนมาความยาว 795 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ก็อาจจะถูกระเบิดได้ตามคำขู่ จึงมีการประชุมฉุกเฉินวางมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ซึ่งก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเส้นทางหลายส่วนอยู่ในเขต “กองกำลังชาติพันธุ์” ที่ไม่เอาด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้เช่นกัน

ขณะนี้อย่างน้อยก็มีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในนามกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KAI) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ที่มีพล.อ.เจ้ายอดศึก เป็นประธาน ออกหน้ามาสู้รบกับกองทัพเมียนมา 

ดูสถานการณ์แล้ว เมียนมามีโอกาสเดินถอยหลังสู่ความวุ่นวาย และอาจถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ  คนที่ต้องรับกรรมคือประชาชน ส่วนจีนเองก็คงกินข้าวไม่คล่องคอ เมื่อโครงการต่างๆ ในพม่าจะเดินต่ออย่างมีอุปสรรคแน่นอน

มองย้อนการเมืองเมียนมา ประชาชนมีชีวิตที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและลำบากยากแค้นยาวนานภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ตั้งแต่ยุคนายพลเนวิน ตั้งตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ครองอำนาจยาวนาน 26 ปี (2505-2531) พาประเทศชาติถอยหลังจมปลักด้วยการปิดประเทศ บริหารเศรษฐกิจด้วยระบบ “สังคมนิยมแบบพม่า” ทุ่มเทงบประมาณไปให้กับกองทัพเพื่อทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยจนชาวบ้านอดอยากไม่มีจะกิน

แม้นายพลเนวินจะหมดอำนาจ แต่เมียนมาก็ยังอยู่ภายใต้เผด็จการทหารชุดใหม่ต่อเนื่องมาอีกกว่าสองทศวรรษจนถึงปี 2554 ที่กองทัพยอมถอยครึ่งทางให้รัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่เมียนมา ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากได้ทำมาหากินอย่างเต็มที่

แต่ชาวเมียนมาได้มีโอกาสสูดลมหายใจประชาธิปไตยเพียงแค่ 10 ปี จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารดึงอำนาจคืนอีกครั้ง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...