ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ VAT 7% เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกับการเรียกอัตราภาษีนี้มาหลายสิบปี ซึ่ง VAT 7% มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกๆ ปี และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าที่มาที่ไปของ VAT7% นั้นคืออะไร แล้วถ้าหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราภาษีนี้ถูกจัดเก็บที่เท่าไหร่ และประโยชน์ของการจ่าย VAT7% ต่อการพัฒนาประเทศคืออะไร สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์จะเล่าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน
#รู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม_หรือ_VAT 7%
ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax (VAT) คือภาษีอากรประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกการบริโภคที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ ถือเป็นภาษีทางอ้อมโดยที่ผู้ประกอบการนั้นจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าและบริการที่บวกลงไปในราคาของผลิตภัณฑ์ และจะนำภาษีนั้นส่งให้กับกรมสรรพากรเพื่อเข้าสู่คลังของประเทศเพื่อการใช้จ่ายและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าภาษีนี้จะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนไว้ใน“ใบกำกับภาษี” ที่เราได้รับมาตอนชำระเงินเสร็จแล้ว
สำหรับสูตรการคำนวณ VAT คือ “ราคาสินค้า/บริการ x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ยกตัวอย่างเช่น บริษัท NNT ขายโคมไฟราคา 1,070 โดยแบ่งเป็นต้นทุน 1,000 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 70 บาท โดยบริษัท NNT ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากรในทุกๆ เดือน
อันที่จริงแล้วสำหรับประเทศไทยอัตรา VAT ที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ว่าเมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุกๆ 2 ปี เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็น 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่ควรจะเป็น
ปัญหาของประเทศไทยที่ต้องเผชิญคือ การจัดเก็บอัตราภาษีต่างๆ ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น กระทบต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่มองข้าม และมักจะไม่อยากเสียภาษีในอัตราที่สมเหตุสมผล เพราะมองว่าภาษีคือ ภาระ ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของพลเมือง แต่มีความต้องการที่จะได้สวัสดิการที่ดี โครงสร้างพื้นฐานที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง
ภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรกับประชาชน
ผลจากการจ่ายภาษีของประชาชนไม่เพียงแค่ทำให้ประเทศชาติมีงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ผลประโยชน์อีกนานัปการที่ประชาชนจะได้กลับไปในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งนี่คือผลดีที่ประชาชนจะได้จากการชำระภาษี เพราะสุดท้ายเงินภาษีที่ชำระมาคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองในด้านต่างๆ โดยภาครัฐจะเป็นผู้จัดสรรตามความเหมาะสมนั้นเอง โดยจะถูกจัดสรรไปเป็นงบประมาณตามลักษณะงาน ดังนี้ (อิงตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี)