ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ไปรษณีย์ไทย ชี้แจงกรณีการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล
05 เม.ย. 2564

นายรัฐพล  ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ชี้แจงกรณีตามที่ได้ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือโดยไม่ลงนามถึงคณะกรรมการ ปณท และบุคคลภายนอกหลายองค์กรเกี่ยวกับการสรรหา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (กจป.) ในประเด็นต่างๆ นั้น คณะกรรมการ ปณท เห็นว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงมีความถูกต้องและครบถ้วน จึงขอแจ้ง ดังนี้

            1. กระบวนการสรรหา กจป.

.1 ที่มา และอำนาจหน้าที่

1.1.1 พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 8 จัตวา กำหนดให้ในการจ้างและแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อได้ผู้ที่มีความเหมาะสมแล้ว ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไปโดยอาจเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมมากกว่าหนึ่งชื่อก็ได้ ทั้งนี้ การจ้างและการแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้บริหารเดิม   พ้นจากตำแหน่ง

1.1.2 หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0803.2/ว.90 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยประธานกรรมการ ออกคำสั่งแต่งตั้ง จำนวน 2 คณะ ดังนี้

                     1) คณะกรรมการสรรหา เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ  และประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อสรรหาได้ผู้บริหารสูงสุดแล้ว ให้เสนอชื่อต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา

                  2) คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน เพื่อทำหน้าที่กำหนดผลตอบแทน  และเจรจาต่อรองผลตอบแทนกับบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารสูงสุดตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายผลตอบแทนที่กำหนดไว้ และให้เสนอผลการพิจารณาพร้อมร่างสัญญาจ้างต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา แล้วเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบผลตอบแทนและร่างสัญญาจ้างแล้วให้รัฐวิสาหกิจนำเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (ตามกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจนั้น) เพื่อดำเนินการแต่งตั้งโดยในการทำสัญญาจ้างให้ประธานกรรมการ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงนาม ในสัญญาจ้าง

1.2 การดำเนินการสรรหา กจป.

1.2.1 คณะกรรมการ ปณท ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กจป. และคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน กจป. เพื่อทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้

1.2.2 คณะกรรมการสรรหา กจป. ได้พิจารณาและดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

1.2.2.1 พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง กจป. โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมในการสรรหา กจป. ครั้งที่ผ่านมา และมีการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับโครงสร้างของ ปณท ในปัจจุบัน เช่น มีการแก้ไขกรณีเป็นหรือเคยเป็นพนักงานของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน เป็นต้น เนื่องจากในการสรรหาผู้บริหารสูงสุด ผู้ที่จะสามารถสมัครได้ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารในตำแหน่งถัดลงมาจากผู้บริหารสูงสุดหนึ่งระดับ ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดตำแหน่งของผู้ที่จะสมัครสอดคล้องกับโครงสร้างของ ปณท ในปัจจุบัน จึงต้องมีการเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิม “ไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่” เป็น “ไม่ต่ำกว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน”  ซึ่งการแก้ไขกรณีดังกล่าวไม่ใช่การกีดกันคนในองค์กรแต่อย่างใด

1.2.2.2 กรณีไม่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่ง กจป. เนื่องจากตามประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง กจป. ได้กำหนดวิธีการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา โดยจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครจากเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครก่อน หากเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศรับสมัคร จึงจะเชิญผู้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น เข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ ดังนั้น กรณีที่ไม่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่ง กจป. จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศ  รับสมัครตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการสรรหา กจป. ทุกครั้ง นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ  ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

1.2.2.3 การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา กจป. เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับการสรรหา กจป. ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการรวบรัดขั้นตอนการดำเนินงานจนผิดวิสัย

1.2.2.4 ในการสรรหา กจป. เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา กจป. โดยมติของคณะกรรมการสรรหา กจป. ที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง กจป. ถือเป็นที่สุดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ผู้ที่มิได้เป็นคณะกรรมการสรรหา กจป. จึงไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง กจป. ได้

1.2.2.5 กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท ได้ทำหนังสือขอให้พิจารณาแต่งตั้งประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา กจป. ด้วยนั้น คณะกรรมการ ปณท ได้พิจารณาจากข้อมูลของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ไม่ให้สหภาพเข้าร่วมกระบวนการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเพื่อป้องกันการขัดแย้งของบทบาทและประโยชน์ของผู้แทนสหภาพในฐานะพนักงานซึ่งจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ กจป. จึงเห็นควรให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าร่วมในขั้นตอนสำคัญในลักษณะผู้สังเกตการณ์ได้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท มีส่วนร่วมในขั้นตอนการสรรหา กจป. โดยคณะกรรมการสรรหา กจป. ได้เชิญให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท  เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่ง กจป.  แต่ไม่สามารถตั้งคำถามในระหว่างการรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ และในช่วงของการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการสรรหา กจป. ให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท รอภายนอกห้องประชุมก่อนเข้ารับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรายถัดไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและมิใช่เป็นการจำกัดสิทธิแต่ประการใด เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท มิได้มีสิทธิในกระบวนการสรรหาตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท ได้ทำหนังสือขอสละสิทธิเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ในครั้งนี้

 1.2.2.6 คณะกรรมการสรรหา กจป. ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง กจป. เป็นสำคัญ ซึ่งมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยได้มีการเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเพื่อให้คณะกรรมการ ปณท พิจารณาแต่ง ตั้งเป็น กจป. ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว

1.2.3 คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน กจป. ได้พิจารณากำหนดผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นของ กจป. รวมทั้งร่างสัญญาจ้าง กจป. โดยได้เชิญผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กจป. จากคณะกรรมการ ปณท มาเจรจาผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นของ กจป. รวมทั้งร่างสัญญาจ้าง กจป. เรียบร้อยแล้ว และนำเสนอคณะกรรมการ ปณท เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการเจรจาต่อรองตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน กจป. เสนอ ก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

            2. ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าว

                2.1 บทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ

คณะกรรมการ ปณท เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารกิจการ การตัดสินใจ การวางแผนนโยบาย และวางแผนกลยุทธ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของกิจการ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 กำหนดให้คณะกรรมการ ปณท มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กจป. และคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน กจป. ดังนั้น การสรรหา กจป. จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของคณะกรรมการ ปณท ในการพิจารณารายชื่อบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมที่จะแต่งตั้ ให้ดำรงตำแหน่ง กจป. ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

                2.2 บทบาท หน้าที่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ

 ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 40 กำหนดให้สหภาพต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน             2) พิจารณาช่วยเหลือสมาชิกตามคำร้องทุกข์ 3) แสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง  ของลูกจ้าง  4) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้กำหนดให้สหภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการสรรหา กจป. เชิญให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการสรรหา กจป. แล้ว

              2.3 หลักธรรมาภิบาล

 กระบวนการสรรหา กจป. เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างของ ปณท ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ กจป. ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา กจป. ได้ เพื่อป้องกันการขัดแย้งของบทบาทและประโยชน์ในฐานะพนักงาน

2.4 การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง กจป.

กระบวนการสรรหา กจป. เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา กจป. ได้คำนึงถึงความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสม ที่จะดำรงตำแหน่ง กจป. เป็นสำคัญ ซึ่งมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และมติของคณะกรรมการสรรหา กจป. ที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง กจป. ถือเป็นที่สุดดังนั้น กระบวนการสรรหาดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย

 คณะกรรมการ ปณท เห็นว่าการได้มาซึ่ง กจป. เป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงให้ความสำคัญและตรวจสอบความถูกต้องในทุกขั้นตอน และขอยืนยันว่าทุกขั้นตอนได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้ว  สำหรับการที่มีบุคคลแสดงความเห็นว่า กจป. ต้องเป็น “คนใน” เท่านั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล สำหรับคณะกรรมการ ปณท ไม่จำกัดสิทธิหรือกำหนดคุณสมบัติไว้ล่วงหน้าว่า กจป. จะต้องเป็น “คนใน” หรือ “คนนอก” แต่ประการใด                         หากแต่พิจารณาวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นสำคัญ ว่าจะมีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนองค์กรซึ่งอยู่ในสภาวะประสบการแข่งขันที่รุนแรง และต้องมีการปรับปรุงองค์กรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กร ปณท ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรได้ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับความสามัคคีและตั้งใจของสมาชิกทุกภาคส่วนของ ปณท ในการบูรณาการความคิดและร่วมมือร่วมใจผลักดันภารกิจของ ปณท ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และสำหรับ กจป. ที่ผ่านการคัดเลือกและแต่งตั้งอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานตามรอบระยะเวลาที่กำหนดซึ่งสมาชิกขององค์กร ปณท  ควรให้การสนับสนุนการทำงานเพื่อให้ กจป. คนใหม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ผลงาน และควรแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ปณท ด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...