จังหวัดเชียงใหม่ ไม่พบจุดความร้อน หลังมีฝนตกในพื้นที่ แต่ค่าคุณภาพอากาศยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เตือนประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน PM 2.5 เนื่องจากคุณภาพอากาศยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แม้จะมีฝนตกในพื้นที่ก็ตาม
นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเตือนประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 พร้อมได้สั่งการให้เครือข่ายด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก
นอกจากนี้ยังได้กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ จัดหน่วยลาดตระเวนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดจุดความร้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงแหง แม่แตง เชียงดาว พร้าว และอำเภอสะเมิง ไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายนนี้ หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้ (4 เม.ย. 64) จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีจุดความร้อน แต่เห็นได้ว่าสภาพฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่อำเภอโซนเหนือ ยังมีค่าสูง หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 64 มีฝนตกกระจายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
สืบเนื่องมาจาก เมฆ(ที่ไม่มีฝน) ทั้งกลางวัน และกลางคืน ส่งผลเชิงลบต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กล่าวคือ การมีเมฆ (ที่ไม่มีฝน) มาก ในช่วงที่มีการสะสมของฝุ่น PM2.5 สูงอยู่แล้ว ก็จะส่งผลทำให้ฝุ่นต้นทุน PM2.5 นั้นยังคงอยู่ เนื่องจากเมฆ (ที่ไม่มีฝน) กลางวัน บังแดด ทำให้อุณหภูมิอากาศผิวพื้นลดลง ส่งผลให้ศักยภาพการยกตัวอากาศในแนวดิ่งลดลง, เมฆ (ที่ไม่มีฝน) กลางคืน ส่งผลให้อากาศข้างบนอุ่น แต่อากาศผิวพื้นเย็น ความต่างอุณหภูมิระหว่างผิวพื้น และบรรยากาศชั้นบนลดลง ส่งผลต่อการลดศักยภาพการยกตัวขึ้นในแนวดิ่งของอากาศ ดังนั้นเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้า ทั่วภาคเหนือตอนนี้ ถ้าเป็นเมฆที่ไม่เกิดฝน (และตัดปัจจัยเรื่องลมออกไป) จะส่งผลเชิงลบต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5