ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ผุดเพิ่มอีก... ‘เว็บไซต์ DBD ปลอม’ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ระวังจะตกเป็นเหยื่อ!
05 เม.ย. 2564

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนประชาชนทำธุรกิจต้องระวังให้มากขึ้น แม้จะเช็คสถานะนิติบุคคลแล้ว   ก็อาจถูกหลอก เพราะต้องเช็คให้ถูกที่ด้วย หลังพบกลุ่มโจรกรรม (Scammer) ไม่หยุดทำเว็บไซต์ปลอมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เปลี่ยนชื่อไปเรื่อย หลอกประชาชนไม่หยุด ล่าสุดพบใช้โดเมนชื่อ http://dbdthailandcompanies.com 

กรมฯ เร่งจับมือผู้เกี่ยวข้องกวาดล้างผู้กระทำผิดให้หมดไป หวั่นส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ย้ำ! ตรวจสอบสถานะนิติบุคคลเข้าได้แค่ 2 ช่องทางเท่านั้นคือ แอพพลิเคชัน DBD e-Service และเว็บไซต์ www.dbd.go.th เลือก DBD Data Warehouse+ เท่านั้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับการประสานงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า มีกลุ่มโจรกรรม (Scammer) ปลอมแปลงเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยใช้ชื่อโดเมนเนมที่มีชื่อกรมฯ เป็นตัวสะกดอยู่ภายในนั้นว่า http://dbdthailandcompanies.com ซึ่งมีลักษณะรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์หลักของกรมฯ หน้าภาษาอังกฤษ และมีช่องทางให้ผู้ที่เข้าไปในเว็บไซต์ปลอมข้างต้นสามารถกรอกข้อมูลเพื่อเข้าไปตรวจสอบเลขนิติบุคคล ซึ่งเลขดังกล่าวเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นจริงกับกรมฯ จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำนี้มีเจตนาเพื่อหลอกลวงให้ผู้ที่เข้าไปใช้เว็บไซต์ปลอมเชื่อว่าเลขนิติบุคคลที่ได้สมมุติขึ้นมีการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดต่อกับผู้ทำเว็บไซต์ปลอมนี้ ถูกล่อลวงและหลงเชื่อให้ร่วมดำเนินธุรกิจจนกระทั่งเกิดความเสียหายตามมา

อธิบดี กล่าวต่อว่า “ที่ผ่านมากรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำผิดในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่องและพบว่ากลุ่ม Scammer มีพฤติการณ์ลักษณะใกล้เคียงกันคือ สร้างเว็บไซต์ที่มีหน้าตาเหมือนของกรมฯ ซึ่งจดทะเบียนโดเมนเนมที่ต่างประเทศ และให้เลขนิติบุคคลที่ผู้กระทำผิดเป็นคนกำหนดขึ้นแก่ผู้ที่ติดต่อทำธุรกิจโดยคาดว่ากลุ่มเป้าหมายของ Scammer ที่ต้องการให้ตกเป็นเหยื่อคือ นักธุรกิจชาวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อนำเลขนิติบุคคลดังกล่าวมาใช้ตรวจสอบกับเว็บไซต์ปลอมที่ทำขึ้นมาก็จะปรากฎข้อความที่ทำให้เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ถูกจัดตั้งตามกฎหมายจริง อย่างไรก็ดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกถึงที่มาและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าว ประกอบกับประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและการปราบปรามผู้กระทำผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนถึงขั้นเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย”

 “โอกาสนี้กรมฯ ขอเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) Moblie Application: DBD e-Service และ 2) เว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th เท่านั้น (ค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Data Warehouse+ ไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง  สำหรับผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยที่กำลังติดต่อหรือจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติ นอกจากจะใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกจากกรมฯ เป็นเอกสารให้คู่ค้าพิจารณาเพื่อเป็นเครื่องยืนยันความมีตัวตนแล้ว กรมฯ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจชาวต่างชาติว่าสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านระบบ DBD Data Warehouse+ ซึ่งเป็นบริการของกรมฯ ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้อีกช่องทางด้วย เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลแบบเชิงลึกสร้างความมั่นใจและตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจอีกขั้น” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...