นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) นำเสนอบทความเรื่อง “ตลาดฮาลาล โอกาสที่ไทยร่วมผลักดันไปสู่เป้าหมาย” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวโน้มของอุตสาหกรรมฮาลาลและโอกาสทางธุรกิจ และเพื่อให้สอดรับกับแผนงานอาหารไทยอาหารโลกของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ และอาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก
ปัจจุบันตลาดมุสลิมมีความสำคัญมากขึ้น จากปัจจัยด้านจำนวนประชากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิม ผลการศึกษาของ Pew Research Center พบว่าศาสนาอิสลามมีการเติบโตเร็วกว่าศาสนาอื่น โดยคาดว่าในปี 2593 จะมีชาวมุสลิมจำนวน 2.8 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.67 ของประชากรโลกทั้งหมด ภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า และตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ สำหรับไทย คาดการณ์ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2593 จะมีชาวมุสลิมจำนวน 5.6 ล้านคน สาเหตุหลักของการเติบโตของศาสนาอิสลาม คือ ชาวมุสลิมมีอัตราการเจริญพันธุ์มากกว่ากลุ่มศาสนาอื่น และอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในกลุ่มศาสนาหลักๆ ทั้งหมด สำหรับการใช้จ่าย DinarStandard คาดการณ์ว่า ชาวมุสลิมจะใช้จ่ายสูงถึง 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2567 ที่อัตราการเติบโตสะสมต่อปี (CAGR) 5 ปีร้อยละ 3.1 จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าและบริการทั่วโลกแสวงหาโอกาสและช่องทางการค้าจากตลาดดังกล่าว
ผอ.สนค. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวโน้มตลาดสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญ 5 กลุ่ม ได้แก่
(1) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลฮาลาล ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลสำหรับชาวมุสลิมเป็นตลาดเฉพาะ ซึ่งสินค้าที่นำไปจำหน่ายในตลาดนี้ต้องมีกระบวนการผลิตและได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล และเนื่องจากการผลิตและส่วนประกอบต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้เครื่องสำอางฮาลาลมีราคาและมาตรฐานคุณภาพสูง และมีความเฉพาะเจาะจง สำหรับไทยซึ่งมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ในปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ มูลค่า 2,916.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.26 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย โดยส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา จึงถือว่าไทยมีโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปยังตลาดชาวมุสลิมได้อีกมาก
(2) อาหารฮาลาล ปัจจุบันไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่ชาวมุสลิมในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้มีวัตถุดิบคุณภาพดีที่หลากหลายและปริมาณที่เพียงพอป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตลอดทั้งปี อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความเข้มแข็ง ผู้ผลิตมีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม จึงมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดมุสลิม ที่ผ่านมา ไทยจึงพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาล เพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมเชื่อมั่นในอาหารฮาลาลไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์มากขึ้น
(3) การท่องเที่ยวฮาลาล ข้อมูลจาก Mastercard-CrescentRating พบว่า ในปี 2561 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ไม่ใช่กลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation: OIC) ที่ชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด และจากการจัดอันดับประเทศปลายทางที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศ OIC
ที่เป็นมิตรกับมุสลิมที่สุด ในปี 2562 ไทยได้อันดับที่ 2 รองจาก สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวรวมถึงการเดินทางที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมหยุดชะงักลง เนื่องจากข้อจำกัด ในการเดินทาง ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ไทยอาจพิจารณาส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการกระตุ้นและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของไทยด้วย
(4) แฟชั่นสำหรับชาวมุสลิม จากแนวโน้มการเติบโตของชาวมุสลิมทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ชาวมุสลิมจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพและมีการเติบโตอย่างมากในตลาดแฟชั่น ประเทศที่ครองตำแหน่งอันดับประเทศที่มีการใช้จ่ายสำหรับเครื่องแต่งกายและรองเท้ามากที่สุด ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย ส่วนประเทศที่มีการส่งออกเสื้อผ้าไปยังตลาด OIC มากที่สุด ได้แก่ จีน ตุรกี และอินเดีย ซึ่งการเติบโตของความต้องการเสื้อผ้าของชาวมุสลิม ทำให้แบรนด์แฟชั่นต่างๆ หันมาสนใจแฟชั่นสำหรับมุสลิมมากขึ้น เช่น แบรนด์ Dolce & Gabbana และ Nike เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อการออกไปจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่สาธารณะ แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวกลับส่งผลดีต่อการค้าแบบออนไลน์ซึ่งมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น
(5) เวชภัณฑ์ฮาลาล เวชภัณฑ์ฮาลาลเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนผสมที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายชารีอะห์ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาสนาอิสลาม ประเทศที่มีการใช้จ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ยามากที่สุด คือ ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่มีการส่งออกเวชภัณฑ์ไปประเทศกลุ่ม OIC มากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการผลิตยาฮาลาลนัก นักวิชาการ ชาวมุสลิมจึงได้เรียกร้องให้ใช้หลักการฮาลาลในการผลิตยาและวัคซีนชนิดต่าง ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มียาและส่วนผสมที่ได้รับการรับรองฮาลาลเพียงพอที่จะครอบคลุมความต้องการใช้ยาของชาวมุสลิม เนื่องจากมาตรฐาน ฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลยังไม่ถูกนำมาใช้ การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยผลักดันนวัตกรรมใน ภาคการดูแลสุขภาพ ประกอบกับการแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพเป็นตัวดึงดูดความสนใจของนักลงทุนให้มี การลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมในด้านนี้เติบโตได้ดีในอนาคต
ทั้งนี้ ผอ.สนค. ได้กล่าวสรุปว่าไทยมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของตลาด ฮาลาลและพร้อมสนับสนุน ผู้ประกอบการมีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล และไทยมีวัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นต้น ดังนั้น ไทยจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการไปยังตลาดมุสลิม รวมทั้งตลาดที่ไม่ใช่มุสลิมแต่มีความต้องการบริโภคสินค้าฮาลาล