ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. เปิดเผยเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วย โควิด-19 โดยระบุว่า ขณะนี้ กทม. สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้จำนวน 9,183 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาอยู่ที่ 4,939 คน สามารถรองรับเพิ่มได้อีก 4,244 คน โดยแผนในการรับผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. การขยายศักยภาพโรงพยาบาล
ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต มีฉุกเฉินที่พร้อม สามารถรักษาช่วยเหลือชีวิตได้ ดังนั้นควรจะให้ผู้ป่วยได้รักษาในโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรับผู้ป่วยโควิด เช่น โรงพยาบาลบางขุนเทียน ที่ปัจจุบันได้ขยายให้มีศักยภาพสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 500 ราย รวมทั้งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ที่มีทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม โดยสามารถรับผู้ป่วยได้มากขึ้นอีก 1300 กว่าเตียง ปัจจุบันมีคนรักษาอยู่ที่ 558 คน สามารถรองรับได้อีก 752 คน
2. ทำโรงพยาบาลโรงแรม
ต่อมาถ้าโรงพยาบาลเริ่มรองรับผู้ป่วยไม่ได้ จะต้องแบ่งผู้ป่วยเป็นหลายรูปแบบ คือ ผู้ป่วยเบา ผู้ป่วยกลาง และผู้ป่วยหนัก ซึ่งผู้ป่วยกลางและผู้ป่วยหนักจะต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือและรักษาค่อนข้างครบ แต่ในกรณีผู้ป่วยเบา ที่ต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนในบ้าน หรือการทำผู้ป่วยไปพักที่โรงแรม หรือ Hospitel โดย กทม. ได้มีการเตรียมความพร้อม รวมทั้งได้ร่วมพูดคุยกับภาคเอกชนในการจัดทำ Hospitel ร่วมกัน
3. การทำโรงพยาบาลสนาม อย่างเต็มรูปแบบ
แม้ว่าตอนนี้ศักยภาพในโรงพยาบาลของเราจะเตรียมพร้อม แต่ก็ได้ทำโรงพยาบาลสนามบางแห่งเพื่อทดสอบระบบ และช่วยเหลือผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง โดยปัจจุบัน กทม. เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามไว้ 2 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลเอราวัณ 1 ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางบอน สามารถรองรับได้ 200 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาอยู่ 10 คน สามารถรองรับได้อีก 190 คน 2. โรงพยาบาลเอราวัณ 2 ที่ศูนย์กีฬาบางกอกอารีน่าหนองจอก สามารถรองรับได้ 350 เตียง โดย 2 แห่งนี้คือโรงพยาบาลสนามเฉพาะที่ กทม. เป็นผู้จัดทำ ไม่รวมโรงพยาบาลสนามที่เครือข่ายอื่น หรือกองทัพได้จัดทำ
ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่า ทาง กทม. ทำเต็มที่เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทุกประเภทให้ได้มากที่สุด.