นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีข้อร้องเรียนของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่ากำลังประสบความเดือดร้อนจากภาวะราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำนั้น กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงว่า สำหรับข้าวที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวในช่วงนี้เป็นข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นการเพาะปลูกในรอบที่ 2 ของเกษตรกรในบางพื้นที่ ซึ่งจะมีปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 4.9 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณข้าวเปลือกทั้งหมด และจากการตรวจสอบกรณีข้อร้องเรียนของเกษตรกรที่จำหน่ายข้าวเปลือกนาปรังได้ที่ตันละ 6,700-6,800 บาท สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายในพื้นที่พบว่า การเพาะปลูกข้าวเหนียวนาปรังเป็นข้าวเกี่ยวสด ที่มีความชื้น และเกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะปลูกพันธุ์ข้าวนาปรัง เช่น กข22 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพื้นแข็ง เมื่อสีแปรสภาพจะได้ต้นข้าวน้อย ประกอบกับพบปัญหาด้านคุณภาพข้าวบางส่วนได้รับน้ำไม่ทั่วถึงเพียงพอเนื่องจากน้ำในเขื่อนมีน้อย และพบข้าววัชพืชปะปนจากรถเกี่ยวนวด (สีเข้มมีหาง) โดยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเปลือกนาปรังประมาณ 190,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 100,000 ตัน ออกสู่ตลาดแล้วกว่า 70% มีแหล่งเพาะปลูกข้าวเปลือกนาปรังบริเวณเขื่อนลำปาวซึ่งพี่น้องเกษตรกรจะเพาะปลูกข้าวเปลือกเหนียวในบริเวณนี้เป็นหลัก
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 โดยได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2563/64 (รอบ2) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยได้จัดสรรงบประมาณ วงเงิน 49,509.81 ล้านบาท สำหรับการประกันรายได้ และช่วยเหลือค่าบริหารจัดการและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรอีกไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 56,095.63 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกพบว่า อยู่ในช่วงชะลอตัวทั้งการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงโดยข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว (กข6) ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,300-10,800 บาท (เกี่ยวสดตันละ 7,800-8,400 บาท) ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีราคาอยู่ที่ตันละ 11,000-11,500 บาท (เกี่ยวสดตันละ 8,500-8,900 บาท) ข้าวเปลือกเหนียวคละ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,500-10,500 บาท (เกี่ยวสดตันละ 7,300-8,100 บาท) ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีราคาอยู่ที่ตันละ 10,000-11,000 บาท (เกี่ยวสดตันละ 7,700-8,500 บาท) ทั้งนี้แม้ว่าราคาข้าวเปลือกนาปรังจะมีการปรับลดลง แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกเหนียวในช่วงการผลิตนาปีรอบแรกซึ่ง ในช่วงเดือนต้นฤดูกาล ตุลาคม 2564 มีราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ประมาณตันละ 9,500 – 10,000 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวเหนียวได้รับชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปแล้ว
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าภายในได้กำชับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้กำกับดูแลตรวจสอบเครื่องชั่งเครื่องวัดความชื้นรวมทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกให้มีการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรให้เป็นไปตามคุณภาพอย่างแท้จริง หากเกษตรกรพบการเอารัดเอาเปรียบสามารถแจ้งได้ผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นจะดำเนินการเชื่อมโยงตลาดโดยให้โรงสีนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อกระตุ้นการซื้อขายและเกิดการแข่งขันด้านราคาให้เป็นไปตามคุณภาพข้าวอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับข้าวเปลือกเหนียวนาปี ในรอบที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา