ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลค่าการส่งออกของไทยยังอยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.47 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐฯ (+6.4%) จีน (+8.4%) ญี่ปุ่น (+3.3%) และประเทศในทวีปยุโรป (+4.4%) นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 11.97 สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 2.27 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัวที่ร้อยละ 7.61
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนนี้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารที่ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดส่งออกสำคัญมีทิศทางทีดีขึ้นตามลำดับ โดยหลายตลาดขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) และเอเชียใต้ นอกจากนี้ หลายตลาดส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ ตลาด CLMV ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่กลับมาขยายตัว รวมถึงตะวันออกกลาง (15) และอาเซียน (5) ที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนมาก
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.47 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.12 ดุลการค้าเกินดุล 710.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564
การส่งออก มีมูลค่า 64,148.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.27 การนำเข้า มีมูลค่า 63,632.37 ขยายตัว
ที่ร้อยละ 9.37 เกินดุล 515.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมีนาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 719,050.84 ล้านบาท ขยายตัว
ร้อยละ 4.05 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 708,095.57 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.52 ดุลการค้าเกินดุล 10,955.27 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,907,932.14 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 0.17 การนำเข้า มีมูลค่า 1,920,028.82 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 7.17 ขาดดุล 12,096.68 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.5 (YoY) ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 109.2 ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฯลฯ) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 59.2 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 41.4 ขยายตัว 19 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย ฯลฯ) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวร้อยละ 5.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 60.6 หดตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย และไต้หวัน
แต่ขยายตัวดีในกัมพูชา ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์) ข้าว หดตัวร้อยละ 40.5 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ และแคนาดา แต่ขยายตัวดีในจีน แอฟริกาใต้ และเบนิน) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 20.3 กลับมาหดตัวในรอบ 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ขยายตัวดีในสหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้) สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดลาว และกัมพูชา แต่ขยายตัวดีในเวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย) ในช่วงไตรมาสของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.8
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.5 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 2 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 43.1 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ ฯลฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 50.6 ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย ฯลฯ) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 52.9 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ฯลฯ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 34.8 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 27.0 ขยายตัว
4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 81.5 หดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดลาว กัมพูชา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
แต่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และไต้หวัน) อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ (เครื่องบินโดยสาร) หดตัวร้อยละ 96.9 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ จีน สหรัฐฯ ไต้หวัน ฯลฯ แต่ขยายตัวได้ดีในสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 94.1 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดกัมพูชา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวได้ดีในอินเดีย ลาว และฟิลิปปินส์) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หดตัวร้อยละ 15.5 หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แต่ขยายตัวได้ดีในเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และเยอรมนี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของหลายประเทศทั่วโลก
ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 12.3 ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ร้อยละ 7.2 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับ 2) ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยการส่งออกไปจีน และเอเชียใต้ขยายตัวสูงร้อยละ 35.4 และร้อยละ 24.3 ตลาด CLMV กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน (5) ยังคงหดตัวร้อยละ 2.4 และ
3) ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) ลาตินอเมริกา และทวีปแอฟริกา ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 16.9 ร้อยละ 11.9 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.1 อย่างไรก็ตาม ตะวันออกกลาง (15) ยังหดตัวร้อยละ 0.5
ตลาดจีน ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ร้อยละ 35.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์
มันสำปะหลัง ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.6
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ร้อยละ 7.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 12.5
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ร้อยละ 4.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 6.2
ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ร้อยละ 32.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.5
ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 2.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ และ
เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวร้อยละ 10.2
ตลาด CLMV กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 0.6
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 24.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ ทองแดง และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 9.7
ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 28.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ
ทองแดงฯ เครื่องจักรกลฯ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.0
ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ร้อยละ 16.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่
ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 21.1
ตลาดตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวร้อยละ 0.1
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 11.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ยางพารา และ เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวร้อยละ 7.9
ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 11.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 11.1
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 2.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป เนื้อปลาสด และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวร้อยละ 3.7
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น (3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน และ (4) ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่
(1) อุปสรรคการค้าชายแดนในเมียนมา โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนานอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเมียนมาในภาพรวม (2) ต้นทุนค่าระวางขนส่งทางเรือของผู้ประกอบการอาจสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และ (3) เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีแผนเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่มีการกำหนดเป้าหมาย
การส่งออกข้าวในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตัน มุ่งเน้นตลาดสำคัญ 3 ตลาด คือ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไป และตลาดเฉพาะ พร้อมเพิ่มการใช้ประโยชน์จาก FTA และ MOU ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการส่งออก รวมทั้งให้สำนักงานพาณิชย์
ในต่างประเทศประสานงานกับผู้ส่งออก-นำเข้า สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้ข้าวไทย และเตรียมจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 เพื่อโปรโมตสินค้าอาหารของไทยในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีแผนในการเปิดตลาดใหม่ โดยขยายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เม็กซิโก อเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนบนอีกด้วย