นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2564 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 48.5 จากระดับ 49.4 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาครัฐประกาศงดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.8 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากเดือนก่อน
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ยาง /สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง /สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทยพบว่าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน สหภาพยุโรป เอเชียใต้ และทวีปออสเตรเลีย ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่าในเดือนมีนาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,737 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 71.5 ต่อปี ในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 53.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ต่อไป