มีรายงานข่าวจากการประชุมก.จ. (คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด) ก.ท. (คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล) และ ก.อบต. (คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล) โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดแนวทางปฏิบัติในการปรับโครงสร้างส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. เพิ่มเติม ในประเด็นที่หลายท่านมีข้อสงสัย โดยสรุปได้ ดังนี้
1.การกำหนดกลุ่มงาน เทศบาล หรือ อบต. ประเภทสามัญ และ อบจ. ที่ได้ดำเนินการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการใหม่ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหารและการปฏิบัติงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 และประกาศกำหนดกอง สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 แล้ว ภายหลังหากประสงค์จะกำหนด “กลุ่มงาน” ต้องมีการประเมินตัวชี้วัด ค่างานต่าง ๆ โดยใช้เช่นเดียวกับการกำหนด “ฝ่าย” ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน”เมื่อ อบจ. เทศบาล หรือ อบต. ได้รับความเห็นชอบให้กำหนด “กลุ่มงาน” และประกาศปรับปรุงแผนอัตรากำลัง 3 ปี แล้ว ให้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ ที่มีลักษณะงานสอดคล้องกับกลุ่มงานนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ให้แต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ/ปฏิบัติการที่มีลักษณะงานสอดคล้องกับกลุ่มงานนั้นรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ แม้จะได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน หากจะเลื่อนเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ต้องขอปรับปรุงตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภททั่วไปและประเภทวิชาการให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้นั้นผ่านการประเมินฯ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษแล้ว ให้อปท.เสนอขอความเห็นชอบต่อ ก.จังหวัด เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน
3. กรณีตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานว่างกรณีผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานว่างลง ให้กำหนดตำแหน่งและเลขที่ตำแหน่งนั้นเป็นระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ รวมถึงการคิดภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลตามแนวทางการจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี หาก อปท. ประสงค์จะเปลี่ยนตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” สามารถดำเนินการได้ โดยขอความเห็นชอบต่อ ก.จังหวัด โดยไม่ต้องประเมินตัวชี้วัด ค่างานต่างๆ
4. การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน”หาก อปท. ประสงค์จะเปลี่ยนตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน” ก็สามารถดำเนินการได้ โดยขอความเห็นชอบต่อ ก.จังหวัด (ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายดังกล่าว ต้องเป็นตำแหน่งที่ว่างใหม่ไม่เกิน 60 วัน)
5. การกำหนดโครงสร้างภายในฝ่าย/กลุ่มงานให้ อปท. กำหนดตำแหน่งข้าราชการสายงานผู้ปฏิบัติไม่น้อยกว่า 2 อัตรา โดยให้มีตำแหน่งประเภทวิชาการอย่างน้อย 1 อัตรา
6. การกำหนดโครงสร้างส่วนราชการ อบจ. ต้องประกาศกำหนดโครงสร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) ทั้ง 9 ส่วนราชการให้ครบถ้วนกรณี เทศบาล หรือ อบต. ประเภทสามัญ ได้ผ่านการประเมินเพื่อปรับเป็นประเภทสามัญ ระดับสูง หรือ ประเภทพิเศษ แล้ว ต้องดำเนินการ ดังนี้ เทศบาลต้องประกาศกำหนดโครงสร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) จำนวน 9 ส่วนราชการให้ครบถ้วน สำหรับ อบต. ก็ต้องประกาศกำหนดโครงสร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) จำนวน 8 ส่วนราชการให้ครบถ้วน
7. กำหนดชื่อฝ่าย (เพิ่มเติม) ดังนี้- กองช่าง/สำนักช่าง กำหนดให้มี ฝ่าย/กลุ่มงานสวนสาธารณะ - กองพัสดุและทรัพย์สิน กำหนดให้มี ฝ่าย/กลุ่มงานจัดซื้อ ฝ่าย/กลุ่มงานจัดจ้าง ฝ่าย/กลุ่มงานตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุ ฝ่าย/กลุ่มงานพัสดุและยานพาหนะ
8. อปท. ใดที่มีชื่อส่วนราชการ ชื่อส่วน หรือ ชื่อฝ่ายไม่สอดคล้องกับชื่อที่กำหนดตามบัญชีแนบท้ายประกาศมาตรฐานทั่วไปฯ ให้ อปท. เสนอ ก.จังหวัด ขอเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับประกาศมาตรฐานทั่วไปฯ
9. กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงส่วนราชการและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตำแหน่ง ในการย้าย/โอน/ การสอบคัดเลือก/คัดเลือก
10. กำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินการขอกำหนดตำแหน่ง ของ อบจ. ใหม่ โดยประกอบด้วย- ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.จ.จ. คัดเลือก เป็น ประธาน- ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ ก.จ.จ. คัดเลือกจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ- ผู้นำชุมชนในเขตจังหวัด ที่ ก.จ.จ. คัดเลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ- ท้องถิ่นจังหวัดหรือผู้ที่ท้องถิ่นจังหวัดมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการสำหรับการสรุปมติจะมีการแจ้งเป็นหนังสือต่อไป