นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ 5 เมืองที่จะได้รับมอบ ตราสัญลักษณ์ เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี้ และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์
การประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะถือเป็นการรองรับการพัฒนาประเทศและสร้างกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้เมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เติบโตอย่างสมดุล ตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมในทุกภูมิภาค ผ่านการออกแบบตามหลักการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ 7 สมาร์ท คือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ ขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ พลเมืองอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ และ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการ และพัฒนาการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีและ นวัตกรรมที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืน
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของ ดีป้า และในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้มุ่งผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่การทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคอยทำงานคู่กับเจ้าของพื้นที่อย่างใกล้ชิด ปรับแนวคิดให้ประชาชนในท้องถิ่น รู้จักมองความเป็นอยู่ปัจจุบันอย่างเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเมืองอัจฉริยะที่ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองที่ยื่นขอรับการพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะเท่านั้น ซึ่ง ดีป้า จะสานต่อความร่วมมือกับแต่ละเมืองที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาเมือง โดยตั้งเป้าที่จะประกาศเมืองอัจฉริยะไม่น้อยกว่า 7 เมืองภายในปี 64 นี้
สำหรับเมืองอัจฉริยะทั้ง 5 เมืองที่ผ่านการพิจารณาในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าสู่เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มุ่งหวังการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 สมาร์ท ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด
2. ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 สมาร์ท ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อพัฒนาขอนแก่นสู่มหานครน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความยั่งยืน 3. แม่เมาะเมืองน่าอยู่ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 3 สมาร์ท มุ่งเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ (Eco Town) เพื่อสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเริ่มต้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่
4. สามย่านสมาร์ทซิตี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 สมาร์ท ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืน และ 5. เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ฐานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเมืองแห่งมาตรฐานคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับสากลของประเทศไทย บนพื้นที่ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง กับแผนพัฒนาทั้ง 7 สมาร์ท