นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดระเบียบการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อให้เกิดการรับซื้อข้าวโพดในประเทศมากขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมอบหมายให้ ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณ
(1) กำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัด
ระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
(2) กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 300 ตัน) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลีมาเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนด
ทั้งนี้ ให้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นอันดับแรก สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพาะปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะมีการบริหารจัดการกำหนดราคารับซื้อ เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้องต่อไป
(3) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติและการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวสาลี ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
(1) กำหนดให้ข้าวสาลีตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1001.99.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 300 ตัน) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลีนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์
(2) ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวสาลีที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1001.99.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
(3) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1) กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติและการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวสาลี ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการสรุปข้อมูลการสำรวจพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป
3) กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เข้มงวดการนำเข้าข้าวสาลีตามมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) เนื่องจากข้าวสาลีมีการนำเข้าจากต่างประเทศอาจมีสารอะฟลาทอกซิน และสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย
4) กรมปศุสัตว์ทบทวนสูตรการผลิตอาหารสัตว์ที่นำข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรอื่น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์และอาจเกิดโรคระบาดในสัตว์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอมติคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งให้เกษตรกรต้องรับภาระปัญหาเพียงลำพังอย่างแน่นอน และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือกับสินค้าเกษตรทุกชนิดที่กำลังจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว