ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
“DITP” มอบนโยบายทูตพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” สร้างรายได้เข้าประเทศ
14 พ.ค. 2564

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มอบนโยบายการทำงานให้กับข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ เน้นเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย 14 ข้อของ “จุรินทร์” พร้อมทำหน้าที่ “เซลส์แมนประเทศ” เพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย และปรับใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดกิจกรรมสร้างรายได้เข้าประเทศ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ได้มอบนโยบายการทำงานให้กับข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ ผ่านระบบ Zoom หลักสูตร “การเตรียมความพร้อมข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ” ปีงบประมาณ 2564 ณ ห้องวงษานุประพัทธ์ อาคารสวัสดิการ 1 กระทรวงพาณิชย์ โดยได้เน้นให้มีการปฏิบัติงานตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามนโยบาย 14 ข้อ ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย 14 ข้อ มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบและเร่งรัดการดำเนินการ ก็คือ การสนับสนุนนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งต้องตรวจสอบความต้องการในตลาดที่ประจำอยู่เป็นอย่างไร ใครเป็นผู้นำเข้า มีกฎระเบียบอะไร และแจ้งมายังฝ่ายผลิต และช่วยในการระบายสินค้า , อาหารไทยอาหารโลก จะต้องเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออก จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อาหารไทยมีคุณภาพ ปลอดภัย , การผลักดันการค้าออนไลน์ ซึ่งต้องช่วยหายี่ปั๊วออนไลน์มารวบรวมสินค้าจากผู้ผลิตแล้วนำไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ , การผลักดันธุรกิจบริการ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ ร้านอาหาร การพิมพ์ เป็นต้น , ช่วย SMEs ทำตลาดต่างประเทศ , เร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal , ช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน , สนับสนุนการเจรจา FTA และ Mini FTA , สนับสนุนการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศ เช่น สินค้า GI , พัฒนางานให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงาน

ผู้ที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนให้กับประเทศ โดยต้องหาทางเชื่อมโยงโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะอาหาร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน สินค้าเพื่อสุขอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าที่เป็นเทรนด์ของโลก BCG Economy และสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น สุขภาพ สัตว์เลี้ยง ผู้สูงวัย แม่และเด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเครือโรงแรม เรือสำราญ และร้านอาหาร ต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้า และสร้างเครือข่ายการค้ากับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ฝ่ายจัดซื้อของห้างค้าปลีก ตัวแทนจัดจำหน่าย นักธุรกิจสำคัญ สภาหอการค้า สมาคมการค้า รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ต้องลงลึกถึงระดับเมือง มณฑล และต้องเร่งสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาด เพราะบางตลาดผู้ซื้อ ผู้บริโภคอาจจะยังไม่ทราบ หรือรู้ข้อมูลสินค้าไทย จึงต้องทำให้รู้ และกระตุ้นให้เกิดความต้องการ

นอกจากนี้ ต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในฐานะเซลส์แมนประเทศ กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัด โดยใช้ประโยชน์จากกลุ่มไลน์ทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด ในการสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการทำงาน จะต้องปรับมาเป็นระบบออนไลน์ และไฮบริดมากขึ้น โดยเน้นการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) , การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Trade Fair) หรือรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) , ปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Overseas Trade Shows) และการจัดงานแสดงสินค้าไทย (Top Thai Brands) ในต่างประเทศ จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยต้องเดินทางไปร่วมออกคูหาภายในงาน เป็นในรูปแบบ Mirror-Mirror โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทาง แต่มอบตัวแทนจำหน่ายออกคูหาในนามบริษัท และหรือส่งตัวอย่างสินค้าไปจัดแสดงในงาน โดยมีระบบเจรจาการค้าทางออนไลน์ ซึ่งจะต้องจัดเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องทำการตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์ให้มากขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวหรือนิตยสารออนไลน์ หรือผ่านกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) เพื่อสร้างความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการของไทยในประเทศนั้นๆ , เพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของต่างประเทศในตลาดต่างๆให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross Border E-commerce ในการเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ได้โดยตรง , เจาะตลาดเมืองรอง โดยการขยายความร่วมมือทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ในระดับรัฐ มณฑล

อย่างไรก็ตาม ในการมอบนโยบายครั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบข้อคิดในการทำงาน จำนวน 10 ร. คือ 1.รับผิดชอบ 2.รักษาระเบียบ กฎ กติกา 3.รู้ตนเอง 4.รอบรู้ เรียนรู้ ริเริ่ม 5.ร่วมมือ ร่วมใจ 6.รวดเร็วอย่างเรียบร้อย 7.รับรองเหมาะสม 8.รอบคอบ 9.รู้คิดเชิงบวก และ 10.รู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...