พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.64 กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข เดือนละ 2.5 ล้านโดส รวม 2 เดือน 5 ล้านโดส ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กทม. เร่งดำเนินการฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค.) กทม. มีแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 2.5 ล้านคน/เดือน โดยจะกระจายการฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการฉีดไม่น้อยกว่าวันละ 20,000 คน และจุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. 25 แห่ง มีศักยภาพในการฉีดวันละ 38,000-50,000 คน/วัน คาดการณ์ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คน/วัน โดยผู้ที่ได้รับการฉีดจะเป็นประชาชนทั่วไป คาดว่าน่าจะครบ 5 ล้านคนตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ดังนั้น ในช่วงนี้ กทม. ขอความร่วมมือประชาชน ลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชั่น "หมอพร้อม" ในการเข้ามาฉีดวัคซีน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและความปลอดภัยของประชาชน โดยหากเปิดให้ประชาชน walk in อาจเกิดปัญหาความแออัดของประชาชนที่ต้องมารอคิว และมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้มีการหารือถึงแนวทางที่จะให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกคนสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดได้อย่างทั่วถึง และแบ่งเบาภาระของ แอปฯ "หมอพร้อม" อาจจะเป็นในรูปแบบของ web based ซึ่งจะใช้สำหรับการจองคิวฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ ซึ่งระบบดังกล่าวจะไม่ซ้ำซ้อนกับ "หมอพร้อม" เนื่องจากขณะนี้ผู้ที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อมจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค และนัดเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล
ส่วนระบบ web based จะใช้สำหรับการลงทะเบียนผู้ที่อายุระหว่าง 18-59 ปี และนัดรับการฉีดวัคซีนที่จุดบริการนอกโรงพยาบาล 25 จุด โดยจะประสานหอการค้าไทย และร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น เข้าร่วมระบบดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนจองคิวได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า จะมีความชัดเจนเรื่องระบบดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล "หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร - หอการค้าไทย" ณ ห้างบิ๊กซี บางบอน เขตบางบอน ซึ่งเป็นการทดลองเปิดระบบ "ศูนย์บริการวัคซีนบิ๊กซี บางบอน" โดยความร่วมมือกับ รพ.ในเครือบางปะกอก มีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัย และครบถ้วนในทุกขั้นตอนจนถึงการดูแลและสังเกตอาการ โดยตั้งเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 2,500-3,000 คน/วัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ได้แก่ บุคลากรส่วนหน้า และอาชีพที่มีความเสี่ยงต้องให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ กทม. และต่อไปจะให้บริการวัคซีนแก่ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ จากบริษัทขนส่งต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 7,000 คน รวมถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเก็บขน พนักงานกวาด จากสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ พนักงานขนส่งอาหารต่างๆ ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายต่อไป คือ บุคลากรครูในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประมาณ 170,000 คน และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีน ในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร โดยกทม. จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ