ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น หลังบันทึกการประชุมเฟดระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการบางท่านเสนอให้เริ่มหารือเกี่ยวกับการชะลอวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ หลังแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงกระตุ้นให้มีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยออกมา
โดยในวันศุกร์ (21 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.36 เทียบกับระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 พ.ค.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2564 (Preliminary) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีน และสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในต่างประเทศด้วยเช่นกัน