นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ประชุมหารือร่วมกับ นางพิมพร รุ่งรชตะวานิช รองประธานบริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคทอรี่ จำกัด และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยเฉพาะด้านเครื่องเงินและผ้าทอ และ อาจารย์ไพเวช วังบอน นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นวิทยากรและที่ปรึกษางานศิลป์และงานตกแต่ง ชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องเงินบนฐานเอกลักษณ์น่านสู่ความยั่งยืนและก้าวสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของUNESCO ณ ห้องประชุมบริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคทอรี่ จำกัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งการประชุมที่จัดขึ้น ดำเนินการภายใต้มาตรการ New Normal อย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญของการประชุมหารือ คือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษาและครูช่างของดอยซิลดอยซิลเวอร์กาญจนาภิเษก ช่างทองหลวง ซึ่งเป็นนักออกแบบและผลิตชิ้นงานเครื่องเงินยุคใหม่ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ได้มีโอกาสเรียนรู้การผลิตชิ้นงานเครื่องเงินแบบโบราณจากครูภูมิปัญญาด้านเครื่องเงินโบราณของจังหวัดน่าน และการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองน่าน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการนำทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านไปต่อยอดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องเงินน่านเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้เป้าหมายการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) โดยเป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของปราชญ์พื้นถิ่น สู่ความร่วมสมัย ซึ่งบริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคทอรี่ จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับ อพท. ในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ทั้งนี้ จะนำประสบการณ์ความสำเร็จที่ได้รับจากความร่วมมือกับกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เปิดโอกาสให้นักเรียนและเยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนนอกระบบหรือที่ต้องออกจากการศึกษาภาคบังคับ ได้เรียนรู้การทำเครื่องเงินน่าน ในรูปแบบทุนการศึกษาแบบให้เปล่า มีใบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รับรอง จนนำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้
ด้านอาจารย์ไพเวช วังบอน นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้เสนอแนวทางการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเครื่องเงินเมืองน่าน โดยเห็นควรยกระดับครูช่าง ที่มีพื้นฐานองค์ความรู้ดั้งเดิม สู่การต่อยอดออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วให้เป็นผู้ถ่ายองค์ความรู้ต่อไปยังเยาวชนผู้สนใจ รวมถึงให้นักวิชาการ นักวิจัย ร่วมกันถอดรหัสองค์ความรู้ ลายแม่แบบ ลายพื้นถิ่น ลายโบราณดั้งเดิม เพื่อรวบรวมความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะเครื่องเงินน่าน ซึ่งนอกจากใช้อ้างอิงทางวิชาการได้แล้ว ยังเป็นการรักษาองค์ความรู้ไม่ให้สูญหายด้วย ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงจากลายเครื่องเงินน่าน สู่มิติต่างๆ ทั้งศิลปวัฒนธรรม การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต คติความเชื่อ โดยการพัฒนาและต่อยอด ต้องมาจากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม มีเป้าหมายร่วมกันคือการทำให้เมืองน่านกลายเป็นศูนย์ออกแบบเครื่องเงินในระดับภูมิภาคอาเซียนหรือระดับโลก
นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ อพท. คือ การเป็นหน่วยสนับสนุน ส่งเสริม และประสานงานกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ความรับผิดชอบการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านฉบับทบทวน (พ.ศ.2564 - 2570) มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ คือ การขับเคลื่อนเมืองน่านให้ได้รับการรับรองจาก UNESCO เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2564 และผ่านการประเมินสถานภาพรอบแรกในปี 2568 ซึ่งการอนุรักษ์และพัฒนาเครื่องเงินเมืองน่าน มีความสอดคล้องกับเป้าหมายตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คือ การนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น ที่คนยุคปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้เพื่อการประกอบอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มแก่ชุมชน ก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำมายกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ในบริบทของการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน โดย อพท.6 ยินดีร่วมเป็นภาคีเครือข่ายให้ความร่วมมือ พร้อมสนับสนุนตามบทบาทหน้าที่ ทั้งด้านองค์ความรู้และงบประมาณ