จากสภาวะการระบาดไวรัสโคโลน่าโควิด – 19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงการระบาดปีนี้ พบว่ามีผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในระดับต่างๆ การที่ไม่มีรายได้และต้องมีต้นทุนที่ต้องยังคงจ่ายอยู่ตลอดทุกวัน จนทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการประสบปัญหาสภาวะการขาดทุน การหดตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของธุรกิจและการจ้างงานในประเทศลดลง จำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานในประเทศลดลงไปจากเดิม การใช้จ่ายภาครัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงเน้นใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดที่มีต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และการจ้างงาน
ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs โดยรวม ควรดำเนินการในการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ภาวะวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ อันดับแรกผู้ประกอบการต้องมีกำลังใจก่อน อย่าท้อและต้องให้กำลังใจตนเอง หรือหากำลังใจจากครอบครัวและบุคคลรอบข้างที่หวังดี เพื่อจะได้มีแรงใจเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น หลังจากนั้นเริ่มตรวจสภาพปัจจุบันของกิจการโดยใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข่าวสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งความช่วยเหลือ การพักหนี้และข้อกำหนดต่างๆ แล้วจัดทำแผนการรับมือ การปรับตัวที่สำคัญ ไม่อาจใช้จ่ายหรือตั้งงบประมาณตามปกติได้อีกต่อไป ฉะนั้นควรดำเนินการตรวจสอบต้นทุนค่าใช้จ่าย จัดลำดับความสำคัญ เพื่อควบคุมต้นทุนในสถานการณ์ที่อาจขาดรายได้ที่จะเข้ามา แต่ในบางสถานการณ์อาจมีโอกาสที่ผู้ประกอบการต้องใช้การลงทุนหรืองบประมาณในเรื่องบางอย่างที่ผู้ประกอบการเห็นโอกาส ดังนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละผู้ประกอบการ แต่การบริหารจัดการที่จำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ คือ ต้องการความสามารถในการปรับตัวเปลี่ยนแปลงย่างรวดเร็ว หากแผนที่ได้ดำเนินการมาเพื่อรับมือปัญหาอาจไม่ประสบความสำเร็จ คงจะต้องมีปรับเปลี่ยนให้ทันการ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญ คือ จิตใจที่เข้มแข็งที่พร้อมรับมือและดำเนินธุรกิจต่อไ”
“จากประกาศผ่อนคลายมาตรการกิจการร้านจำหน่ายอาหาร โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายกิจการร้านอาหาร ในพื้นที่ “สีแดงเข้ม” (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) ใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่ อนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25% ของที่นั่ง และเปิดให้นั่งได้ถึง 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. และห้ามจัดกิจกรรมหรือรวมคนเกิน 20 คน อีกทั้งต้องงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้านทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ซึ่งก็ยังมีผลกับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ถึงแม้ว่าจะผ่อนคลายจากซื้อกลับบ้านแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจะต้องทำก่อนปรับตัวรับมือโรคระบาดครั้งนี้ ยังคงเน้นการสำรวจสภาพปัจจุบันของธุรกิจ สัดส่วนของโมเดลรายได้ หากจากเดิมโมเดลธุรกิจรายได้ทั้งหมดมาจากการบริการในร้าน หรือ ให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้าน ก็ต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยต้องวางแผนขยับโมเดลรายได้มาจากช่องทางอื่นให้เพิ่มขึ้นมาก เพราะจากมาตรการ ศบค.นั้น สามารถนั่งในร้านอาหารเพียง 25% ดังนั้นรายได้ควรขยายให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าเป็นการซื้อกลับบ้านด้วยตนเอง บริการส่งจากทางร้าน อาจเลือกใช้กลยุทธ์หาคู่ค้าดิลิเวอรี่ต่างๆ โดยผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงต้นทุนในการแต่ละทางเลือกที่จะเกิดขึ้น โดยพิจารณาการหาคู่ค้าอย่างรอบคอบ เงื่อนไขต่างๆ ค่าธรรมเนียม คาดการรายได้ที่จะได้จากแต่ละช่องทาง เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในสถานการณ์ที่ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวให้อยู่รอด สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ คือ ความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ความสะอาด ปริมาณที่ให้ยังคงรักษามาตรฐาน เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารไม่ได้อยู่รอดแค่ช่วงนี้ แต่ยังให้ยั่งยืนและครองใจผู้บริโภคหลังจากวิกฤติในครั้งนี้ต่อไป”