นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงานสัมมนาออนไลน์ โครงการ "ประสานพลังคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ" จัดโดย บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และ 6 สถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs คู่ค้า ให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ว่า จากมาตรการช่วยเหลือ กลุ่ม SMEs ในช่วงที่ผ่านมาเห็นว่ายังไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงยกระดับความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้มากขึ้น
ธปท. จึงร่วมกับกระทรวงการคลัง ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. soft loan เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือการขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้รวมผู้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพิ่มกลไกค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายของกลไกดังกล่าว จากปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากหรือมีสายป่านสั้น และต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว โดยผู้ประกอบการที่มีความสนใจรับความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูนี้ สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นลูกค้าอยู่ได้
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า แม้จะขยายเงื่อนไขของความช่วยเหลือในมาตรการให้ครอบคลุมขึ้นแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการบริหารจัดการมาตรการ และการให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีข้อจำกัดที่ทำให้ SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ ธุรกิจ SMEs มีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของ SMEs ได้ยาก เพราะขาดข้อมูลและยังขาดคนกลางที่จะช่วยชี้เป้า SMEs ที่มีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เมื่อมองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกันและยกระดับบทบาทในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์