เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. เปิดเผยว่า การท่าเรือฯ มีแผนจะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐานในระดับโลก การพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งการพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาการให้บริการและยกระดับการทำงานมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยการนำระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ ทั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในระดับนานาชาติ
โดยการท่าเรือฯ จะเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่การท่าเรือฯ ต้องการผลักดันให้เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของไทย มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 6,340 ไร่ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีอีซี ดังนั้นการยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาคและเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต และมีส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกเรื่องของการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
"การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ตามแผนงานโครงการอีอีซี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และสอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาที่จะแล้วเสร็จในปี 2568" เรือโทกมลศักดิ์กล่าว
อีกหนึ่งโครงการคือ การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟบนพื้นที่ 600 ไร่ ให้สามารถรองรับรถไฟได้ 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และระบบโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร
สำหรับท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงกระบวนการทำงานภายในองค์กรและการให้บริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี
นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง (ท่าเรือระนอง) จังหวัดระนอง เพื่อรองรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน และผลักดันให้ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก ล่าสุด กทท.ได้ดำเนินการให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ศึกษาและสำรวจออกแบบ (Detail Design) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ของภาคประชาชนไปประกอบการดำเนินโครงการปรับปรุงท่าเรือระนองให้มีประสิทธิภาพ
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ล่าสุดหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐของโครงการฯ ค่าสัมปทานคงที่มูลค่าสุทธิที่ 29,050 ล้านบาท และให้คณะกรรมการการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศฯ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาซองที่ 4 ผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงินและมีมติเห็นชอบกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จากประเทศจีน ผ่านการประเมินซองที่ 4 และได้ทำการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 5 ซองข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ในไตรมาสแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณสินค้าผ่านท่า ลดลง 6.24% หรือคิดเป็น 25.762 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่า ลดลง 2.81% หรือ 2.311 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื่อว่าหลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศมีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่ามีทิศทางฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักสะท้อนการเติบโตของปริมาณสินค้า