11 มิ.ย.2464 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ด้วยการประชุมผ่านแอปพลิเคชันระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบสรุปผลรายงานการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ–ชลบุรี–มาบตาพุด เชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการได้เพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีในอนาคต รวมทั้งเติมเต็มโครงการในพื้นที่ EEC และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) และเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สำหรับโครงการส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ–ชลบุรี–มาบตาพุด เชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร (กม.) นั้น โดย ทล. ได้มีการประชุมและลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เนื่องจากโครงการดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ EEC จึงได้มีการบูรณาการร่วมกัน และร่วมผลักดันโครงการฯ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเส้นทางเชื่อมไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และจะเป็นเส้นทางหลักที่สำคัญในอนาคต
สำหรับความคืบหน้าโครงการในขณะนี้นั้น ทล. อยู่ระหว่างการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และพิจารณาความเหมาะสม รวมถึงการกำหนดแนวเส้นทาง คู่ขนานกับการจัดทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ในเบื้องต้น ทล.จะเสนอขอกู้เงิน เพื่อนำมาลงทุนโครงการ วงเงิน 4,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 3,940 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 260 ล้านบาท เนื่องจากโครงการฯ ได้ถูกตัดออกจากการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งเมื่อ ทล. ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้จำนวนดังกล่าวแล้วนั้น จะเริ่มดำเนินการทันที
นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า คาดว่าจะเริ่มกระบวนการเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างภายในกลางปี 2565 ควบคู่กับการเวนคืนที่ดิน ซึ่งบางส่วนเป็นของทหาร ซึ่งจะต้องไปดำเนินการขอใช้พื้นที่ และอีกส่วนจะเป็นพื้นที่โล่ง ทำการเกษตร ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนในเขตทางเพิ่ม 40 เมตร จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้าง ซี่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้เป็นไปตามแผนเปิดท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าว ไม่ผ่านการพิจารณาให้ใช้งบประมาณจากการกู้เงินนั้น ทล. จะนำโครงการฯ ไปจัดตั้งงบประมาณไว้ในแผนการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งหากได้รับการจัดสรรแล้วนั้น จะเปิดประกาดราคาภายใน ต.ค. 2565 (เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566) และเริ่มก่อสร้างทันที อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการจะแล้วเสร็จ และทันตามแผนที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับการกู้เงิน