บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สนับสนุนศูนย์ช่วยคนตาบอดในประเทศไทยสู้ภัย COVID–19 ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ขนส่งสิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รวมถึงสิ่งของจำเป็นที่ได้จากหน่วยงานอื่น ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อส่งต่อให้ผู้พิการทางสายตาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงการป้องกันสุขภาพ และเพื่อการดำรงชีพภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID–19
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID–19 ในระยะที่ 3 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้พิการทางสายตา ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพจนทำให้บางคนขาดรายได้ ขาดโอกาสในการเข้าถึงการป้องกันสุขภาพ และอาจเข้าสู่สภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย องค์กรของผู้พิการทางสายตาระดับชาติ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิสวัสดิการของผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับการดำรงชีพและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดให้แก่ผู้พิการทางสายตาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
“ศูนย์ช่วยคนตาบอดในประเทศไทยสู้ภัย COVID–19 ได้รับพระราชทานสิ่งของจำเป็นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวน 4,200 กล่อง รวมถึงสิ่งของจากหน่วยงานอื่น ๆ ไปรษณีย์ไทยจะดำเนินการขนส่งสิ่งของจำเป็นอย่างต่อเนื่องให้กับผู้พิการทางสายตาที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ทั้ง 11 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมืออาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ผ่านบริการ EMS โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยก็ได้สนับสนุนการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นให้กับผู้พิการทางสายตาไปแล้ว จำนวนกว่า 10,000 กล่อง โดยการสนับสนุนของไปรษณีย์ไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการช่วยสังคมในช่วงภาวะวิกฤตที่พร้อมเป็นเพื่อนแท้ร่วมทางเคียงข้างคนไทยในทุกสถานการณ์ ช่วยลดผลกระทบในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสุขอนามัยและความเสี่ยงในการได้รับเชื้อให้กับผู้พิการทางสายตา และการสนับสนุนให้คนในสังคมได้มีโอกาสแบ่งปันสิ่งของจำเป็นให้กับคนอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต” ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป