นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 13 ฉบับ โดยได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.... ฉบับของพรรคเพื่อไทย จำนวน 4 ร่าง ดังนี้
1.ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เนื่องจากหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพยังเกิดปัญหา โดยเฉพาะสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม และเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่เป็นภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น และควรแก้ ม.10 ยกเลิกความใน ม.129 โดยให้อำนาจของกรรมาธิการเรียกผู้พิพากษา องค์กรผู้พิพากษามาให้ข้อมูลได้ หรือให้ข้อเท็จจริงได้
2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เทนราษฎร หรือ ส.ส. โดยให้เหตุผลว่า ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ในปัจจุบัน ยังไม่เคยใช้ในประเทศใดมาก่อน มีปัญหาหลายด้าน ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง ยุ่งยาก ซับซ้อน และยากต่อการคำนวณคะแนน และมองว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐธรรมนูญ 50 สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยได้ดีกว่า ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ต้องประกาศผลภายใน 60 วันนั้น ให้ลดเหลือ 30 วัน เพื่อเปิดสมัยประชุมสภาได้เร็วมากขึ้น รวมถึงระบบเลือกตั้ง หากพรรคใดได้เสียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ของเสียงเลือกตั้งที่รวมกันทั้งประเทศ แสดงว่าไม่ผู้ใดในบัญชีรายชื่อนั้นได้รับการเลือกตั้ง และการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เห็นว่าควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญใน ม.91
3.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ม.159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิก ม.272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เป็นร่างร่วมของพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากเห็นว่า ม.159 กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตาม ม.88 ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้อยู่ใน ม.88 ได้รับเลือกด้วย และให้สภาผู้แทนราษฎรมีทางเลือกนายกรัฐมนตรีได้มากขึ้น
4.ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในบางเรื่อง และยกเลิกบทบัญญัติความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญของ คสช. ในหมวด 6 ยกเลิก ม.65 เกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม ม.142 ม.162 ให้ตัดคำว่ายุทธศาสตร์ออก และยกเลิก ม.270 ม.271 ม.275 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว.บางเรื่อง รวมถึงยกเลิก ม.279 โดยให้เหตุผลว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ทำไม่น้อยกว่า 20 ปีนั้น ยาวนาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และอาจจะเป็นพันธะต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ได้ให้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ในส่วนของพรรค จำนวน 3 ร่าง ประกอบด้วย
1.ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยให้เพิ่ม ม.55/1 การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนมักได้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จึงเสนอแก้ไข ม.55 ให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้องให้เป็นหน้าที่รัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ขณะนี้ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน แม้จะแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความมั่นคงในระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า การให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน น่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้แท้จริง
2.เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ตาม ม.65 ที่พรรคเห็นว่าไม่เหมาะสม ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะการกำหนดระยะเวลา 20 ปี เนิ่นนานไป
3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.159 และยกเลิก ม.272 เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องอำนาจของ ส.ว. เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีความเชื่อมโยงต่ออำนาจของประชาชนโดยตรง
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 6 ร่าง ประกอบด้วย
1. เรื่องสิทธิของประชาชน ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ในเรื่องโทษทางอาญา การควบคุมผู้ต้องหา และการประกันตัว ไม่ครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่ไม่ได้กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และเรื่องสิทธิที่ดินที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม
2. แก้ไขเพิ่มเติม ม.256 เรื่องอำนาจ ส.ว. เพื่อต้องการสะเดาะกลอน นำไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น
3. เรื่องการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กรณีประพฤติมิชอบ เพื่อให้ประธานรัฐสภามีอำนาจส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระได้ เพื่อให้การตรวจสอบโปร่งใสมากขึ้น ไม่สามารถต่อรองคดีจากประธานรัฐสภา
4. การแก้ไขเพิ่มเติม ม.159 และยกเลิก ม.272 เพื่อไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
5. การแก้ไขเพิ่มเติมแนวนโยบายของรัฐ การปกครองท้องถิ่น เพื่อให้การกระจายอำนาจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและทั่วถึง
6. ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง ให้การคำนวณคะแนนมีความชัดเจน และสนองเจตจำนงของประชาชน
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ทางพรรคเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ยังไม่เป็นประชาธิปไตย โดย 6 หลัก ที่ยกมาเป็นไปตามหลัก 3 ข้อ คือ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามประชาธิปไตย โดยไม่แตะหมวด 1, หมวด 2 และไม่แตะหมวดการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคำนึงถึงประเทศและประชาชนเป็นหลัก ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกผู้แทนที่ชอบได้ และให้ระบบรัฐสภามีความเข้มแข็งมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่เป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียวเหมือนปัจจุบัน
ขณะที่ประเด็นอำนาจ ส.ว. มองว่าควรมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทนประชาชน เช่น ส.ส.