นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนมกราคม – เมษายน 2564 โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24,286.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 74.17 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,204.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 21.44
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม – เมษายน 2564 มีมูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.37 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 74.91 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 8,125.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 7,110.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,836.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,139.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,582.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (ร้อยละ 100) 2) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 90.22) 3) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 89.49) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 75.36 และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 70.41)
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในเดือนมกราคม – เมษายน 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,204.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.85 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 62.30 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,062.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.98 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 64.27 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 88.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.47 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 42.82 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 47.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.79 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 74.47 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.23 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 64.42 สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม ข้าวโพดหวาน
ภาพรวมการใช้สิทธิฯ 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ อาเซียน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.09) เกาหลี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.60) ญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.56) ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.76) และนิวซีแลนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.42) นอกจากนี้ การส่งออกไปบางตลาดสำคัญยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสี่เดือนติดต่อกัน อาทิ อาเซียน-จีน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.07) และอาเซียน-อินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.81) ซึ่งการขยายตัวเหล่านี้เกิดจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และมาตรการหลายๆ มาตรการ ในการผลักดันการส่งออก เช่น การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าทั้งภายใต้ FTA และ GSP การเพิ่มช่องทางการตลาด การอำนวยความสะดวกในการออกเอกสาร ซึ่งเป็นมาตรการตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
สำหรับสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ขยายตัว และมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ภายใต้ FTA อาทิ ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) มันสำปะหลัง (อาเซียน-จีน) สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง (อาเซียน-จีน) รถยนต์ขนส่งของที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ผลไม้สด (อาเซียน) แผ่นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี, ไทย-ชิลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-ญี่ปุ่น) รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. (ไทย-ชิลี) ถุงมือ (ไทย-ชิลี) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ลวดทองแดง (อาเซียน-อินเดีย) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-อินเดีย) พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่นๆ ทำด้วยวัตถุทอประดิษฐ์ (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องแต่งกายของสตรีหรือเด็กหญิงถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม (ไทย-เปรู) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย-เปรู) เป็นต้น
หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชั่นชื่อบัญชี “@gsp_helper”