กระทรวงพาณิชย์ ปลื้ม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จัดอันดับกระทรวง ‘นำเทรน’ พร้อมพัฒนาหน่วยงานให้บริการไปสู่รัฐบาลดิจิตอล โดยยกให้พาณิชย์ได้ระดับ ‘ความพร้อมสูง พัฒนาไม่หยุด’ สอดรับกับความตั้งใจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันองค์กรไปสู่การให้บริการประชาชนผ่าน digital technology ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อกระชับเวลาการให้บริการที่รวดเร็ว ฉับไว ตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจและประชาชน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินงาน ‘ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ’ เพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) โดยส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาระบบให้บริการโดยใช้ digital technology มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีภารกิจในการให้บริการประชาชนโดยตรงอย่างเช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีภารกิจหลักด้านการจดทะเบียนธุรกิจและให้บริการข้อมูลธุรกิจแก่ประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ ประกอบกับบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างใกล้ชิดเสมอมา
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้ดำเนินการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิตอล จากหน่วยงานในระดับกรมและกระทรวง ประจำปี 2559 เพื่อหน่วยงานของภาครัฐจะได้นำผลการสำรวจครั้งนี้ไปใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิตอล ซึ่งผลการจัดระดับครั้งนี้กระทรวงพาณิชย์และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานให้บริการประชาชนได้จัดให้อยู่ใน ‘ระดับ Developed ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีระดับความพร้อมสูง และมีระดับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง’ สะท้อน ให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมาในการมุ่งมั่นยกระดับการให้บริการประชาชนที่รวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อันทันสมัย
โดย สรอ. ได้ประเมินความพร้อมในการพัฒนารัฐบาลดิจิตอลใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) นโยบายและ แนวปฏิบัติในการพัฒนารัฐบาลดิจิตอลที่มีความชัดเจน (Policies and Practices) 2) โครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัยและประสิทธิภาพพร้อมต่อการใช้งาน (Secure and Efficient Infrastructure) 3) ระบบบริหารจัดการภายใน ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ (Smart Back Office Practices) 4) ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิตอลที่พร้อมต่อการทำงานในสภาพแวดล้อมดิจิตอล (E-Officer with digital capability) 5) การบริการภาครัฐที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย (Accessible and convenient public services) และ 6) เทคโนโลยีอัจฉริยะและการติดตามถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้พัฒนาในรูปแบบดิจิตอล (Smart technologies and practices)
กระทรวงพาณิชย์ขอขอบคุณ สรอ. สำหรับผลการประเมินดังกล่าว ทำให้สะท้อนภาพของกระทรวงฯและมองเห็นข้อมูลที่แท้จริงในการกำหนดทิศทางเพื่อวางนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ประกอบกับยังได้นำเสนอแนวทางการยกระดับองค์กรให้สามารถพัฒนาไปสู่ผู้นำในการให้บริการประชาชนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำข้อมูลไปปรับใช้กับการกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินงานให้ชัดเจนต่อไป