โควิดกลายพันธุ์ ทุบดัชนีเชื่อมั่นฯ ดิ่งเหว ทำสถิติต่ำสุดแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
ดัชนีเชื่อมั่นฯ เดือน มิ.ย. ทำสถิตต่ำสุดรอบ 22 ปี 8 เดือน จากปัจจัยโควิดรอบใหม่ ส่งผลการใช้จ่ายชะลอตัวลง ชี้ไทยถึงจุดเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.7 เป็น 43.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือนหรือ 22 ปี 8 เดือนสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต โควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงจากระดับ 52.0 มาอยู่ที่ระดับ 50.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 273 เดือนหรือ 22 ปี 9
ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 3 แสดงว่า ผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศและในโลก ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งต้องดำเนินการให้รวดเร็วรวมถึงการแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่า จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะมีการประกาศล็อกดาวน์หรือไม่ ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเมินว่า อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 0-2% ได้
“เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูง หลังเกิดโควิดทำให้ความเชื่อมั่นมีสัญญาณลดลง แย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากการใช้จ่ายจะเริ่มหยุดชะงักลง รวมไปถึงเสถียรภาพการเมืองต่ำสุด เป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง ส่วนประเด็นการล็อกดาวน์นั้น หากรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการก็ต้องมีมาตรการเยียวยาออกมาควบคู่ทันที”