“ศักดิ์สยาม” เร่ง 13 หน่วยงานคมนาคม เบิกจ่ายงบปี 64 กว่า 2.22 แสนล้านบาท เผย 9 เดือน เบิกจ่ายไปแล้ว 8.49 หมื่นล้านบาท ลุยลงนามสัญญากว่า 9 พันโครงการ อัดเม็ดเงินเข้าระบบไปแล้วกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ตั้งเป้าสิ้นปีเบิกจ่ายได้ตามแผน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2564 ซึ่งมี 8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ ในภาพรวม จำนวน 227,894.50 ล้านบาท โดยมีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ตุลาคม 2563-30 มิถุนายน 2564) จำนวน 161,802.49 ล้านบาท ซึ่งถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 84,962.82 ล้านบาท (56.32% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร)
โดยในส่วนของงบรายจ่ายลงทุนจำนวน 188,214.53 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ตุลาคม 2563-30 มิถุนายน 2564) จำนวน 133,486.11 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 102,603.34 ล้านบาท (54.51% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร)
ทั้งนี้ งบรายจ่ายลงทุนที่มีรายการที่จะต้องลงนามในสัญญามีจำนวน 9,854 รายการ วงเงินรวม 98,439.44 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งรายการรายจ่ายที่ลงทุนปีเดียว รายการลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท โดยถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีการลงนามในสัญญาไปแล้ว 9,732 รายการ วงเงิน 85,476.11 ล้านบาท (86.83% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร) โดยส่วนที่เหลือจะทยอยการลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการ ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของกระทรวงคมนาคมในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2564 จำนวน 10 รัฐวิสาหกิจ วงเงินรวม 102,919.56 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายตั้งแต่เดือน 1 ตุลาคม 2563-30 มิถุนายน 2564 จำนวน 61,145.60 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 55,257.55 ล้านบาท (53.69% ของวงเงินงบประมาณทั้งปี) ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายเงินได้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ได้เร่งรัดการดำเนินงานการลงนามในสัญญาเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ของหน่วยงานในสังกัดให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินงานและเบิกจ่ายเงินได้โดยเร็ว และในส่วนของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขอให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 227,894.50 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายจ่ายประจำ 39,279.10 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 188,615.40 ล้านบาท โดยหน่วยงานราชการ เช่น กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบ 125,946.93 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจัดสรรงบ 48,789.84 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับจัดสรร 3,701.92 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับจัดสรร 58,273.87 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับจัดสรร 18,482.64 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับจัดสรร 15,675.99 ล้านบาท
ขณะที่ แผนการจัดตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ" นั้น นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้มีนโยบายที่จะให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่
โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งขึ้นมา 1 ชุด มีนายอธิรัฐ รัตนเศษฐ รัฐมนตรีช่วยว่ากากรระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล แนวทางและรูปแบบการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ พิจารณาก่อนนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยจะต้องให้แล้วเสร็จและจัดตั้งได้ภายใน 1 ปี
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้พิจารณากรอบแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และทางเลือกรูปแบบการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ขณะเดียวกันภายใน 1 เดือน ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและกรมเจ้าท่า เชิญสถาบันการศึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดเตรียมบุคลากรด้านพาณิชย์นาวี สำหรับรองรับจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไปด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ยังได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการถือหุ้นของบริษัทเดินเรือในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติต่อไป รวมถึงให้ศึกษาแนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ
ส่วนสาเหตุที่รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ขึ้นมาใหม่นั้น เนื่องจากในอดีตถึงปัจจุบัน กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ทำการขนส่งสินค้าทางทะเล มีขนาดเล็ก มีระวางบรรทุกน้อย ไม่สามารถขนส่งระยะไกล เรือสินค้าไทยมีสัดส่วนในการขนส่งสินค้าเข้า - ออกจากประเทศเพียง 9% และไทยต้องพึ่งพาเรือสินค้าต่างชาติถึง 91% ทำให้ไทยขาดดุลค่าระวางขนส่งสินค้าสูงถึงประมาณ 90% คิดเป็นเงินประมาณ 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี
ดังนั้น เมื่อกระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ความเป็นศูนย์กลาง และการเป็นทางผ่านของการขนส่งระหว่างภูมิภาคของโลก ย่อมเป็นความได้เปรียบและเป็นโอกาสของประเทศไทย