คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เดินหน้าต่อ ออกประกาศและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในปริมาณประมาณ 80 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อประมาณ 80 เมกะวัตต์ โดยสามารถตรวจสอบจุดเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้า (Feeders) กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 และจะมีการประชุมซักซ้อมความเข้าใจในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ก่อนการเปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 1 - 2 มีนาคม 2560 ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ณ สำนักงาน กกพ. ชั้น 19 อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ โดยสามารถขอรับแบบคำร้องผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th หรือสามารถมารับได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงาน กกพ. (กรุงเทพฯ) หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ และ กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เพื่อที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พร้อมทั้งได้ประกาศข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 พื้นที่ ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลตำบลนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 2.อบจ.นนทบุรี (2)-(3) 3.อบจ.ระยอง
4.อบจ.หนองคาย 5.เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่ 6.เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก 7.เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี และ 8.ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช จ.กรุงเทพมหานคร “คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และต้องไม่มีการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายหรือ กฟผ. ถือหุ้นตั้งแต่ 50 เปอร์เซนต์ขึ้นไป ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ที่สำคัญต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาโครงการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณีไป นอกจากนี้ ต้องเป็นโครงการที่มีการดำเนินการจัดการขยะแบบผสมผสานและ/หรือใช้เชื้อเพลิง RDF เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือเป็นโครงการที่มีการดำเนินการจัดการขยะแบบหลุมฝังกลบ และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาก่อน” นายวีระพล กล่าว การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนี้ใช้วิธีการพิจารณาคุณสมบัติโดยไม่ต้องประมูลแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องการให้มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนำมาผลิตไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด โดยจะพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก หรือ โครงการ Quick Win ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการกำจัดขยะชุมชน โดยให้ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการกำจัดขยะชุมชนจนถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามกฎหมายร่วมทุน “โดยหลังจากเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้ว กกพ. จะดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT Bidding ในประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสียชีวมวล และชีวภาพจากพืชพลังงาน โดยจะเปิดรับซื้อในพื้นที่ ทั่วประเทศภายในช่วงต้นปี 60 ก่อนจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ต่อไป” นายวีระพล กล่าวเสริม