นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายด้านเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area หรือ FTA ที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งนี้เพื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ส่งออกในการหาตลาดที่เป็นประโยชน์และลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการส่งออกได้นับจากนี้
นางมัลลิกา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ โดยในปี 2563 มีการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 276,005 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 8,044,703 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 63 ของการค้าไทยกับทั้งโลก สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 คือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 167,372 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,297,055 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 81,961 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
ซึ่งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการค้ามีการขยายตัวในประเทศที่มีการทำ FTA โดยเฉลี่ยประมาณ 150-200% ในขณะที่ประเทศที่ไม่มี FTA มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 50-100%โดยการใช้สิทธิประโยชน์ผ่าน FTA ในปี 2563 มีมูลค่า 58,077.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของการส่งออก ที่ได้รับสิทธิ FTA
"ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 คือ มกราคม-เมษายน 2564 มีการขอใบรับรองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกด้วย FTA มูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 74.91 ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.09 และประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย" นางมัลลิกา กล่าว
อย่างไรก็ตามรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์ กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลผู้ประกอบการทุกระยะเพื่อได้ใช้ประโยชน์ทางการค้าและเพิ่มตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยในช่วงที่ผ่านมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ในฐานะประธานการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ระหว่าง 15 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และบวกอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยที่ถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP 1 ใน 3 ของโลกและมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการเปิดการค้าเสรีเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ห่วงโซ่มูลค่าการผลิตโลกเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในต้นปี 2565 จึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าใช้บริการของ RCEP Center ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 02-507 -7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th