นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี อยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรงมากขึ้นทุกปี กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนระยะที่ 1 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 900 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-พฤศจิกายน 2565
โดยแหล่งทรายที่จะนำมาใช้เสริมบริเวณชายหาดจอมเทียนนำมาจากทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากชายหาดจอมเทียนไปทางทะเล 15 กิโลเมตร ปัจจุบันเริ่มเสริมทรายชายหาดตั้งแต่โรงแรมจอมเทียนชาเล่ต์จนถึงโรงแรมยู จอมเทียน พัทยา มีผลการดำเนินงาน 4.39%
ทั้งนี้ สภาพพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ภาคพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ประสานขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อย่างเร่งด่วน
อีกทั้งการรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2552 ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตะวันออก และจัดให้พื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
ต่อมาในปี 2557 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน โดยมีพื้นที่ศึกษาตลอดแนวชายหาดจอมเทียนความยาว 6.2 กิโลเมตร
ตั้งแต่บริเวณหน้าร้านอาหารลุงไสวถึงบริเวณแนวโขดหินหน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ค วอเตอร์เวิลด์ ระยะที่ 1 มีความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 มีความยาว 2,855 เมตร
ในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบูรณะฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงาม รวมทั้งการทำงานมีกำหนดเสร็จในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง
โครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ สอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี