นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประกาศขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ครอบคลุมสัดส่วนร้อยละ 80 ของจีดีพี ทำให้เกิดการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การค้าและโลจิสติกส์
โดยคาดว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ไม่สามาควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ในช่วง 2 เดือน จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจหดตัว -2 ถึง -3 จากเดิมที่เคยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 0 ถึงร้อยละ 1
แต่อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าสถานการณ์จะคลายตัวได้ ในเดือนกันยายน หรือตุลาคมนี้ และเข้าสู่การฟื้นฟู้เศรษฐกิจในระยะถัดไป ส่วน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มองว่าจะไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาเงินกู้เพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะทำให้การใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและอาจจะมีการพิจารณาขยายเพดานเงินกู้จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 60 ของจีดีพี ออกไปอีกร้อยละ 5-10