นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินเครื่องเต็มสูบจัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งปีติดอาวุธการสร้างมูลค่าเพิ่มหนุนผู้ประกอบการ SME ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเพื่อแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน
นางอภิรดี กล่าวว่า “สินค้าและบริการไทยส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับในแง่คุณภาพอยู่แล้ว แต่หากต้องการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ผู้ประกอบการจะต้องทราบความต้องการและรสนิยมของตลาด ควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่าง และล้ำหน้าคู่แข่งไปอีกขั้น พร้อมตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เช่น การนำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ข้าวอบกรอบ สปาเกตตี้ข้าว และเครื่องดื่ม ไปจนถึงการเอาไปสกัดเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางค์ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Super Food รวมทั้งเป็นส่วนผสมของสารที่ใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาสินค้าเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งสิ้น และที่สำคัญ ต้องไม่ละเลยเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สวยงาม ดึงดูดใจผู้ซื้อด้วย”
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีความรู้ด้านการตลาด การบริหารจัดการ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม. ภายใต้ แนวคิด การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ สู่ความเป็นมืออาชีพ นี้ กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำแผนโครงการ MOC 4i : Smart Enterprise Programขึ้น โดยมีระยะดำเนินการ 5 ปี มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ (Start up )และ SME ให้เป็น Smart Enterprise โดยเน้นการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของไทยสู่การเป็นแบรนด์สากลที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีที่ยืนในเวทีโลกเทียบเท่าแบรนด์สากลชั้นนำ โดยโครงการนี้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์”
โครงการ MOC 4i ประกอบกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการใน 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1“Inspiration” การสร้างแรงบันดาลใจและปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการ ในรูปแบบการ อบรมสัมมนา เช่น การนำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านต่างๆ. การจัด Creative Thailand Symposium ในช่วงงาน BIG+BIH 2016 ในเดือนตุลาคม 2559 ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปแล้วทั้งสิ้น 1,153 ราย โดยโครงการในระดับนี้มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ประกอบการ SME และStartup และเปิดรับต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ระดับที่ 2 “Incubation” การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์
ใน 4 กลุ่มคลัสเตอร์หลัก ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและอาหาร ธุรกิจบริการและแฟรนไชส์ สินค้าสุขภาพและความงาม และสินค้าไลฟ์สไตล์และ Startup โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ 30-40 รายในแต่ละคลัสเตอร์ ผ่านกิจกรรม IDEA Lab ที่จะจัดต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2560 เป็นต้นไป และจัดงานครั้งใหญ่ “Start to SMART Platform 2017: Unlock…Unleash to Uplift” ในวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่าง SME และ Startup เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME เลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ Startup มาใช้ในธุรกิจ
ระดับที่ 3 “Implementation” การพัฒนาสินค้าเฉพาะกลุ่มเพื่อให้เกิดการสร้างแบรนด์ไทยที่เป็น
ฮีโร่ เน้นให้คำปรึกษาเป็นรายบริษัท เพื่อเลือกตลาดให้ตรงกับสินค้าและบริการ และจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์ ระยะเวลาดำเนินการ 6-10 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 โดยมีกิจกรรมได้แก่โครงการ Thai Brand Heroes Future Lab และกิจกรรมโครงการศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน (Thailand Smart Trade Center: TSTC) ที่จะสร้างโอกาสและช่องทางการค้าสู่ตลาดจีนแบบ Offline to Online พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนแบบครบวงจร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตนเองแล้วและเป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ระดับที่ 4 “Internationalization” การสนับสนุนการหาพันธมิตรในต่างประเทศ อาทิ การสร้างแบรนด์ผ่านสื่อชั้นนำ การร่วมงานกับดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง หรือแบรนด์ชั้นนำ เน้นการต่อยอดให้เกิดการสร้างแบรนด์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสินค้าและบริการของไทยในเวทีโลก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือแบรนด์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีนวัตกรรม มีการออกแบบที่ดี มีแบรนด์ของตนเองและเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งแล้ว. ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันฮีโร่แบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกหรือ Thai Brands to Global Project จำนวน 20 รายในช่วง 5 ปีข้างหน้า และคาดหวังว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ระดับที่ 1 ถึง 4 รวม 1,500 ราย
นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า จะเห็นว่าทั้ง 4 ระดับจะเป็นการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงการออกไปแข่งขันในเวทีโลก สนับสนุนยุทธศาสตร์ การตลาดนำการผลิตของกระทรวงพาณิชย์อย่างแท้จริง สำหรับการสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการในระดับ1 และ 2 นั้น กระทรวงพาณิชย์ จะจัดเอากลุ่มเกษตรกรเข้ามาร่วมอบรมด้วยโดยจะจัดเป็นคอร์สพิเศษลงไปถึงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านการตลาดช่องทางการจำหน่ายการบริหารจัดการ ฯลฯ เพื่อสร้างเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการสามารถใช้กันตลาดนำการผลิตได้สร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน และหากรายได้มีความ ศักยภาพก็จะผลักดันเข้าสู่ระดับสามและสี่ต่อไป
ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม สินค้า GI และการสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้าและบริการของไทยมีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งจากผ่านมามีข้อมูลว่าสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ได้ จะมียอดขายมากกว่าสินค้าทั่วไปประมาณ 2-3 เท่าในตลาดต่างประเทศ